พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เลี้ยงกระบือน่าสนใจ

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์

                                                                       ภาพนี้จาก : cm77.com

เกษตรกรไทยรวมถึงเอเซียด้วยโดยเฉพาะชาวนาในอดีตจะมีความผู้พันธ์กับกระบือหรือควาย เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงใช้งานเพื่อการเกษตรของครัวเรือน โดยเฉพาะการตรียมแปลงนา และการขนส่งผลิตผลการเกษตรของเกษตรกรในเอเซียมาอย่างยาวนาน

เนื่องเพราะเอเชียเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก ทำให้กิจกรรมการปลูกข้าวและการเลี้ยงกระบือเป็นของคู่กัน  ในเอเชียแหล่งที่มีการเลี้ยงกระบือมากได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และในจีนตอนใต้

หากพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนพบว่าพม่ามีประชากรกระบือสูงสุด รองลงมาได้แก่ฟิลิปปินส์และไทย ส่วนในสิงคโปรค์นั้นไม่มีประชากรกระบือเพราะไม่มีพื้นที่ทำนามาแต่ในอดีต

ในช่วงกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมานับจากการเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติเขียวหรือยุคของการการค้นพบและแพร่กระจายเทคโนโลยีข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้หลายครั้งในรอบปีโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการชลประทาน

การแพร่กระจายของข้าวพันธุ์ใหม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบการทำนาของเกษตรกรทั้งในอาเซียนและเอเชีย และทำให้บทบาทของกระบือที่เป็นสัตว์เลี้ยงใช้งานของเกษตรกรหมดความสำคัญลงไป

การเร่งรีบเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกให้ได้รวดเร็วขึ้น ความต้องการเพาะปลูกข้าวให้ได้หลายครั้งในรอบปี นับว่าเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรยอมรับเอาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในไร่นาแทนแรงงงานกระบือที่เคยใช้อยู่ดั้งเดิมกันอย่างแพร่หลาย

โดยเฉพาะรถไถเดินตามและตามมาด้วยเครื่องนวดข้าวและเครื่องเกี่ยวและนวดข้าว ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้แรงงานกระบือในกิจกรรมการเกษตรหมดความจำเป็น

[adrotate banner=”3″]

นอกจากนี้การเก็บกระบือไว้ในไร่นาจะพบปัญหาในการจัดหาพื้นที่ให้กระบือและเล็มหญ้า เพราะหากนำไปเลี้ยงในทุ่งและกระบือเกิดไปและเล็มต้นข้าวในแปลงนาของคนอื่น เจ้าของกระบือจะต้องไปรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

เหตุนี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากปลดระวางกระบือออกจากสัตว์แรงงานในครัวเรือน และถูกขายออกไปเพื่อเข้าโรงฆ่าขายเนื้อเป็นอาหาร โดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบท ทำให้จำนวนประชากรกระบือลดลงอย่างมากและกำลังเข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

ในภูมิภาคอาเซียนพบว่าประชากรกระบือได้ลดลงจาก 17.09 ล้านตัวในปี 2518 และได้ลดลงมาเหลือ 13.29 ล้านตัวในปี 2556  ในจำนวนนี้ ประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศในอาเซียนที่ประชากรกระบือได้ลดลงมากที่สุด โดยลดจากจำนวน 5.60 ล้านตัว ลงมาเหลือ 1.29 ล้านตัว ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงกว่า 3 เท่าตัวในช่วงเกือบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา

อีกทั้งในปัจจุบันธุรกิจการค้ากระบือตามชายแดนไทยได้ขยายตัวเติบโตขึ้น เพราะมีความต้องการเนื้อกระบือจำนวนมากจากเวียดนามและจีนตอนใต้ ยิ่งเป็นอัตราเร่งที่ทำให้ประชากรกระบือมีชีวิตถูกต้อนส่งไปจำหน่ายยังประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะประชากรกระบือมีชีวิตในประเทศไทย

          การปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสน่าที่ประเทศไทยควรจะสนับสนุนให้มีการจัดทำฟาร์มเลี้ยงกระบือให้เป็นอาชีพหลักของเกษตรกร เพราะการทำฟาร์มนอกจากจะทำให้ประชากรกระบือเพิ่มขึ้นแล้วยังจะเป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรชาวนาได้อีกทางหนึ่งด้วย