แก้หนี้นอกระบบด้วยการสหกรณ์

  •  
  •  
  •  
  •  

                         แก้หนี้นอกระบบด้วยการสหกรณ์

โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์

เพิ่งผ่านมาหยกๆ “วันสหกรณ์แห่งชาติ” ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี การการประกาศให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” เพื่อสดุดีและน้อมร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณแด่ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ผู้ซึ่งทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ ปูพื้นฐาน และจัดตั้งขยายกิจการของวิธีการสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 102 ปีก่อน และได้รับการสดุดีให้ทรงเป็น“พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”  จึงขอย้อนอดีตเพื่อให้เห็นความสำคัญของการสหกรณ์ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของชาวนาไทย

            ภายหลังประเทศไทยเปิดเสรีการค้าภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษและรวมถึงสนธิสัญญากับชาติตะวันตกอื่นๆเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น ได้กระตุ้นให้ครัวเรือนชาวนาเกิดความต้องการเงินทุนเพิ่มเติม ทั้งเพื่อการปรับปรุงที่ดินการจัดหาปัจจัยการผลิต ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เพราะเป็นโอกาสที่ชาวนาจะเพิ่มพูนรายได้ให้กับครัวเรือนจากการขยายการผลิตเพื่อการค้า อันเป็นผลจากการผลิตเชิงการค้าและการขยายการผลิตในระดับไร่นาของครัวเรือนในชนบท รวมถึงความต้องการข้าวที่มีมากขึ้นจากการขยายตัวของตลาดส่งออกในขณะนั้น

         ในอดีตเมื่อถึงฤดูเพาะปลูก ชาวนาที่ต้องการเงินทุนต้องพึ่งพาเงินกู้จากนายทุนผู้มีฐานะในหมู่บ้านหรือพ่อค้าผลิตผลซึ่งเป็นเงินกู้เงินกู้นอกระบบทั้งนี้ เพราะบุคคลเหล่านี้มีเงินสดอยู่ในมือ ขณะที่ชาวนาไม่มีเงินสดในมืออีกทั้งในยามเดือดร้อน หรือเจ็บป่วย ก็ต้องอาศัยพึ่งพาผู้ให้กู้นอกระบบและญาติพี่น้อง เพราะเป็นกลุ่มบุคคลในชนบทเพียงกลุ่มเดียวที่มีความใกล้ชิดพอพึ่งพากันได้ เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน

         สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับครัวเรือนในชนบทและชาวนาอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้ชาวนาที่ไปกู้ยืมต้องตกอยู่ในสภาพการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะแหล่งเงินกู้ในชนบทดังกล่าวนอกจากจะคิดดอกเบี้ยในอัตราระดับสูงแล้วในหลายกรณีผู้ให้กู้ที่เป็นพ่อค้าในหมู่บ้านมักจะผูกโยงเงื่อนไขการให้กู้ไปกับการบังคับให้เกษตรกรต้องนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับผู้ที่ให้กู้ ซึ่งเป็นการบังคับซื้อในระดับราคาต่ำ หรือมีเงื่อนไขอื่นๆของการให้กู้ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาผู้กู้ เช่น การคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงการบังคับให้นำสินทรัพย์ที่ดินจำนวนมากกว่าเงินกู้มาให้ผู้กู้ถือไว้เพื่อเป็นหลักประกัน เป็นต้น

        การขาดแคลนแหล่งเงินกู้ในชนบทที่เป็นสถาบันสินเชื่อในระบบในอดีต จึงเป็นอุปสรรคต่อชาวนาและมีผลทำให้ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองและต้องตกเป็นเบี้ยล่างของนายทุนผู้ให้กู้มีการเอารัดเอาเปรียบในเงื่อนไขการกู้ต่างๆในหลายกรณีจากหนี้จำนวนเล็กน้อยที่ได้ไปกู้ยืมมากลับมีจำนวนหนี้พอกพูนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณและยากที่จะทำให้เกษตรกรหรือชาวนาเหล่านั้นหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินได้บางรายต้องสูญเสียที่ดินหรือทรัพย์สินที่นำไปจำนองหรือนำไปเป็นหลักประกัน  เปลี่ยนสถานภาพจากการที่เป็นเจ้าของนากลับกลายมาเป็นผู้เช่านา ซึ่งสร้างความทุกข์ยากให้กับเกษตรกร

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในขณะนั้น ได้ทรงทราบถึงความทุกยากของราษฎรที่เป็นหนี้และทรงพระราชวินิจฉัยว่า

         “การที่จะปลดเปลื้องหนี้สินของชาวนาและลดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกู้ยืมเงินควรจัดให้มีธนาคารเกษตรโดยให้ธนาคารมีสาขาตั้งอยู่ตามส่วนภูมิภาคต่างๆ รวมถึงการหาทางนำเอาวิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุนมาจัดตั้งในประเทศไทยเพื่อให้สถาบันดังกล่าวเป็นแหล่งในการจัดหาเงินทุนให้ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้กู้ยืมโดยตรงอันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะลดดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่ายและในขณะเดียวกันจะช่วยฟื้นฐานะของชาวนาและเป็นการช่วยปลดเปลื้องหนี้สินตามมา”

          สำหรับแนวทางในการจัดตั้งธนาคารเกษตรตามพระราชดำริในขณะนั้น กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้เชิญ เซอร์ เบอร์นาด ฮันเตอร์(Sir Bernard Hunter)หัวหน้าธนาคารแห่งมัดราส ประเทศอินเดีย ให้เข้ามาสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ใน พ.ศ. 2457 และได้เสนอให้จัดตั้งธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาติ(National Loan Bank) เพื่อให้ราษฎรกู้ยืมโดยใช้ที่ดินและหลักทรัพย์อย่างอื่นเป็นหลักประกัน

           อย่างไรก็ตามแนวทางในการจัดตั้งธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาตินั้น แม้จะไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นในขณะนั้น แต่ในระยะต่อมาได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้นในปี 2490 และมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ในปี 2509 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งสินเชื่อและให้กู้ยืมเงินแก่พี่น้องชาวนาที่ขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร เมื่อมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์หรือธ.ก.ส. ขึ้นแล้วได้มีการควบรวมธนาคารเพื่อการสหกรณ์เข้ากับการดำเนินงานของธนาคาร ธ.ก.ส. ตามมา

[adrotate banner=”3″]

         สำหรับแนวทางหรือวิธีการทางสหกรณ์นั้น  ในคราวประชุมสมุหเทศาภิบาลในปี 2458 กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอรูปแบบของสหกรณ์เครดิตเพื่อแก้ปัญหาการเป็นหนี้ของชาวนา ซึ่งในปีต่อมาทางกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ซึ่งมีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ในฐานะทรงเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์

       ขณะนั้นได้ดำเนิการจัดส่งนาย เจ เอ เคเบิล (Mr. J.A. Cables) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกรมฯไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งสหกรณ์หาทุนแบบไรซ์ไฟเซ็น (Raiffeisen) ขึ้น ในปี 2459 ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเรียกชื่อว่า “สหกรณ์หาทุนวัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้”

         สหกรณ์หาทุนวัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้นี้ถือได้ว่าเป็นสหกรณ์หาทุนแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ในระยะเริ่มแรกได้ใช้”ศีลธรรม” เป็นหลักประกันเงินกู้ (moral security) แต่เนื่องจากสหกรณ์ประเภทนี้ให้สมาชิกกู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การใช้หลักประกันดังกล่าวจึงไม่เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ขาดหรือด้อยการศึกษา จึงได้เปลี่ยนเป็นการใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกันซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนเพิ่มขึ้นอีกในหลายจังหวัด

        การจัดตั้งสหกรณ์หาทุนในยุคนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งให้กู้ยืมเงินในระบบสถาบัน และเป็นการให้กู้ยืมเพื่อกิจกรรมการเกษตรแก่สมาชิกสหกรณ์ได้กู้ยืมเงินไปเป็นทุนรอนในการประกอบอาชีพ การให้กู้ยืมก็คิดคอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมไม่สูงจนเกินไปเพราะต้องการให้เกษตรกรสามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ได้และไม่ต้องเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจะต่างจากการกู้ยืมจากนายทุนพ่อค้าในหมู่บ้านที่คิดดอกเบี้ยค่อนข้างสูง

         อีกทั้งการดำเนินงานของสหกรณ์หาทุนในยุคนั้นได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะหนี้สินของชาวนาและช่วยลดปัญหาความไม่เป็นธรรมในตลาดการกู้ยืมเงินให้แก่พี่น้องเกษตรกรและชาวนาได้อย่างมาก

         การใช้วิธีการสหกรณ์หาทุนเพื่อการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในตลาดกู้ยืมเงินในชนบทในช่วงเวลาต่อมาได้พัฒนาขยายตัวไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์ในรูปแบบอื่นๆดังเช่นสหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน สหกรณ์บำรุงดิน สหกรณ์การขาย เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพ  และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนในชนบทให้ดีขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหากษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมและหลุดพ้นจากความยากจน

         เนื่องจากวิธีการสหกรณ์และการจัดตั้งสหกรณ์รูปแบบต่างๆได้ขยายตัวไปอย่างมากมากจากรูปแบบของสหกรณ์หาทุนที่มีการจัดตั้งไว้ ต่อมาจึงได้มีการการควบรวมสหกรณ์หาทุนขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงบทบาทและภารกิจให้เป็นสหกรณ์หาทุนขนาดใหญ่ พร้อมๆกับปรับรูปแบบของการดำเนินธุรกิจให้สามารถขยายตัวไปสู่การทำธุรกิจเป็นแบบอเนกประสงค์ ภายใต้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511อีกทั้งยังได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพของสหกรณ์หาทุนในกลุ่มเกษตรกรขึ้นใหม่ให้มาเป็นสหกรณ์การเกษตรรวมถึงการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นสถาบันสำหรับให้การศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ตามวิธีสหกรณ์ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ

       ในปัจจุบันได้มีการจัดแบ่งกิจการสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วยสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนซึ่งนับได้ว่าแนวคิดของวิธีการสหกรณ์ได้แพร่ขยายไปในภาคส่วนต่างๆทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมืองอย่างมากโดยมีจำนวนสหกรณ์ที่ได้รับการจัดตั้งและดำเนินการไม่น้อยกว่าแปดพันสหกรณ์และครอบคลุมสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน

         นี่แหละ ที่มา ที่ไปของการแก้ปัญหาเงินกูhนอกระบบด้วยสหกรณ์ จึงทำให้เกษตรกรแม้จะมีหนีนอกระบบอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น อาทิ พ่อค้า แม่ค้า รายย่อย หรือและคนทำงานที่ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะมีหนี้นอกระบบมากกว่าเกษตรกร เพราะเกษตรกรนั้นมีสหกรณ์เป็นที่พึ่งครับ!