7 แนวทางขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยในปี 2563 ของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน”

  •  
  •  
  •  
  •  

      ท่ามกลางภาคการเกษตรไทยกำลังประสบกับมรสุมหลายด้าน ที่บรรทรความอยู่ดีกินดีของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสรสุมที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ภาวะความแห้งแล้ง แมลงศัตรพืชระบาด ราคาผลผลิตที่ผันผวน เงื่อนไขทางการของประเทศคู่ค้า และอื่นๆที่เป็นปลีกย่อยอีกมากมาย ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของ    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตร ในปี 2563 ล่าสุดได้เปิดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า สำหรับปี 2563 กระทรวงเกษตรฯในการดำเนินการที่ต่อยอด 7 แนวทางด้วยกัน เน้น การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ – การส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ – การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต – การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต-การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน – การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร -การตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร

      สำหรับ แนวทางที่ 1. การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบนั้น เป็ยการการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยได้มีการสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะสามารถสร้างเป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้ โดยเน้นในส่วนของแก้มลิง ในบริเวณลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่ได้มีการทำแผนที่สำรวจเอาไว้แล้ว จะมีการเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผันน้ำ จากลุ่มน้ำตะวันตกมาช่วยเหลือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะมีการเพิ่มกำลังในการส่งน้ำจาก 800 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็น 2,000 ล้าน ลบ.ม./ปี เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และรักษาสมดุลระบบนิเวศ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

      2. การส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ จะมีการนำศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ามาเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีมาตรการในการ “ลด ละ เลิก” การใช้สารเคมี จะประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด สำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อม ก็จะขอให้ “ละ” การใช้สารเคมี และเป้าหมายสุดท้ายคือการเลิกใช้สารเคมี โดยจะมีการหาและพัฒนาสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ มาทดแทน รวมถึงการใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทนเรื่องแรงงาน เป็นต้น

     3. การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต จากนโยบายที่ดำเนินการมาในปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงได้มีมาตรการในการหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มช่องทางในการขายให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตร Young Smart Farmer ที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็ง เพื่อนำร่องในการปฏิรูปภาคการเกษตร ซึ่งจะมีหน่วยงานเข้าไปแนะนำตลาด ในเรื่องออนไลน์ อาทิ การร่วมมือกับ LAZADA Thailand ในการจัดอบรมการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ การขายสินค้าเกษตรโดยตรง รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และจะ KICK OFF โครงการในเดือนมกราคม 2563 และหลังจากนั้นจะดำเนินการในทุกภาคของประเทศไทย เพื่อดำเนินการส่งเสริมและขยายตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกร

      4. การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต ได้มีการตั้งคณะกรรมการการปรับปรุงปุ๋ย การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการคือการลดต้นทุนในส่วนของค่าปุ๋ยลง 30% แต่ถ้าเกษตรกรมีความพร้อมในการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ ทั้งปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ ทางภาครัฐก็พร้อมเข้าไปส่งเสริม ให้ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาการจัดส่งสินค้า (ระบบโลจิสติกส์) เพื่อลดการใช้จ่ายในการลดค่าขนส่งทุกประเภท ซึ่งมีการเจรจาทั้ง Kerry ไปรษณีย์ไทย และการบินไทย ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งดำเนินการ

      5. การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน สำหรับประมงพื้นบ้านได้มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 50,000 กว่าลำ ส่วนประมงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมให้รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินการภายกันเงื่อนไขของ IUU ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้มีของขวัญให้พี่น้องชาวประมง โดยการเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรืออวนลากในอ่าวไทยอีก 30 วัน และในปี 2563 เรือประมงประเภทอื่น ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน (ยกเว้นเรืออวนลาก) จะทำการประมงได้ตลอดทั้งปี โดยกระทำภายใต้การรักษาสมดุลการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและภายใต้เงื่อนไขของ IUU

      6. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการที่จะส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร ทั้งการจ้างงานของกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในขณะที่ไม่สามารถทำการเกษตรตามปกติได้ อีกทั้งจะมีการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำทั่วประเทศ โดยเตรียมพันธุ์ปลา พันธ์กุ้งไว้ประมาณ 550 ล้านตัว และจะใช้เวลา 4 – 6 เดือน ทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถจับไปบริโภค หรือจับไปขาย เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความต้องการของตลาด ได้แก่ โค กระบือ แพะ และการแจกที่ดินทำกิน (ส.ป.ก.) ให้แก่เกษตรกรด้วย

     7. การตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC) โดยจะมีการตั้งศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (Big data) เป็นการเชื่อมโยงกับ 10 หน่วยงานหลัก ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ การตรวจสอบศักยภาพพื้นที่โดยใช้ Agri-Map เพื่อจัดทำ Zoning เป็นต้น

  ซึ่งทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นการต่อยอด นโยบายเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการต้องเนื่องและเป็นรูปธรรามต่อไป