กรมวิชาการรับลูกคำสั่ง “ธรรมนัส” ออกมาตรการ 4 ชั้น 5 ขั้นกรอบวางกรอบป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนภาคใต้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการรับลูกคำสั่ง “ธรรมนัส” ออกมาตรการ 4 ชั้น 5 ขั้นตอน วางกรอบป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนภาคใต้ เน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้กระทบต่อตลาดและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของทุเรียนไทย ขณะที่ทูตเกษตรยันตลาดจีนมีความต้องการทุเรียนไทยสูงอย่างต่อเนื่อง

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร  รณรงค์ยกระดับมาตรการในการกำจัด และป้องกัน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain ตั้งแต่การผลิตจากสวนของเกษตรกร การเก็บเกี่ยว คัดบรรจุ และการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืช

พร้อมกำชับให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขยายผลจากผลงานวิจัย และนวัตกรรม จัดการสวนตามแนวทางการทำการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูง คุ้มค่าการลงทุน และขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกร และผู้บริโภค

ทั้งนี้หลังจากได้มอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดงาน Kick off กิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเจาะทุเรียนจังหวัดชายแตนใต้ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ทางกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ หน่วยงานระดับจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ ขยายผลเพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้

นอกจากนี้ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และด่านตรวจพืชในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาตรการกรอง 4 ชั้นอย่างเคร่งครัด ในพื้นที่เสี่ยงการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยเน้นย้ำการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของทุเรียนประเทศไทย สำหรับมาตรการการผลิตทุเรียนคุณภาพของจังหวัดยะลาประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ร่วมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าวให้กับผู้นำชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดยะลา เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของทุเรียนไทย โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาได้ดำเนินการจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ

ขั้นตอนที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร วิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะที่เหมาะสม

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแปลงต้นแบบในการใช้วิธีการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยวิธีผสมผสานให้แพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนนั้นๆ

ขั้นตอนที่ 4 ทดสอบนวัตกรรมการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)  ที่เหมาะสมในพื้นที่ทุเรียนต้นสูง โดยมีการทดสอบทางกายภาพของอากาศยานไร้คนขับในทุเรียนต้นสูงทดสอบประสิทธิภาพการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อให้ได้วิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และพฤติกรรมของเกษตรกรจังหวัดยะลา

ขั้นตอนที่ 5 ขยายผลนวัตกรรมการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และการติดตามผลการดำเนินงานแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล

นายรพีภัทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีทุเรียนสดที่ถูกตีกลับอาจจะทำให้ขาดความเชื่อมั่น จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ดังนั้นกรมวิชาการเกษตร จำเป็นต้องใช้กลไก ภายใต้ข้อตกลงในพิธีสารการส่งออกผลไม้ ไทย-จีน และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด

ขณะเดียวกันได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรทั้ง สวพ.7 และ สวพ. 8 นายด่านตรวจพืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามทูตเกษตรประจำกรุง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ยังยืนยันความต้องการทุเรียนไทยคุณภาพภายในจีนยังสูงอยู่

“การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เป็นประเด็นให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทางการเกษตร” จำเป็นต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการให้รอบคอบและรัดกุมทั้งในมิติของการส่งออกและการช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจมีผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ได้รับการรับรอง GAP และสามารถส่งออกไปจีนแล้วจำนวน 633,771.86 ไร่ 73,237 แปลง เกษตรกรจำนวน 66,054 ราย มีปริมาณการส่งออกที่ขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงปัจจุบัน จำนวน 40,408 ชิปเมนท์ 638,428.64 ตัน รวมมูลค่า 84,833.52 ล้านบาท” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว