กรมส่งเสริมการเกษตรแนะวิธีดูแลพืชผักในช่วงฤดูฝน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะวิธีดูแลพืชผักในช่วงฤดูฝน เผยภาคใต้ฝนตกจะต่อเนื่องถึงกลางเดือนมกราคม 2568 เกษตรกรควรมีการวางแผนการปลูกและรักษาพืชผักให้เหมาะสม เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำมากและความชื้นในอากาศสูง

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 จะมีฝนตกมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน พร้อมคาดการณ์ฤดูฝนสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567

ส่วนภาคใต้ ฝนตกจะต่อเนื่องถึงกลางเดือนมกราคม 2568 เกษตรกรควรมีการวางแผนการปลูกและรักษาพืชผักให้เหมาะสม เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำมากและความชื้นในอากาศสูง หากเกษตรกรวางแผนการผลิตและดูแลรักษาไม่ดี อาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำวิธีการดูแลพืชผักให้เหมาะกับช่วงฤดูฝน ดังนี้

                                                                                       พีรพันธ์ คอทอง

  1. เลือกชนิดพืชผักที่เหมาะสมกับช่วงฤดูฝน โดยพืชผักที่เหมาะสมสำหรับปลูกในฤดูฝน เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ผักกาดหอม ตำลึง ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว แตงร้าน ฝักทอง ฝัก แฟง มะระ บวบ ส่วนพืชผักที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในฤดูฝน เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม แครอท เป็นต้น
  2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ปลูก ควรใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพมาตรฐานจากแหล่งที่เชื่อถือได้ บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท มีข้อมูลแสดงอายุการทำพันธุ์ และเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อราที่ติดมากับเมล็ด ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับเมล็ดผักได้
  3. การเตรียมดิน ในฤดูฝนดินมีการอุ้มน้ำมาก หากรากพืชแช่อยู่ในน้ำนานจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ขาดอากาศและตายในที่สุด โดยพืชผักที่มีรากไม่ลึกมาก ควรยกแปลงให้สูงจากพื้นดินมากกว่า 30 เซนติเมตร เพิ่มปริมาณปุ๋ยคอก ให้มากกว่าเดิม เผื่อปรับโครงสร้างและเพิ่มช่องว่างในดิน หรือใส่ปูนขาว อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่เพื่อปรับสภาพ และลดความเป็นกรดของดิน
  4. การจัดการแปลงปลูกด้วยการคลุมแปลง เพื่อป้องกันเม็ดฝนที่สร้างความเสียหายแก่ผิวหน้าดินและระบบรากพืช โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น โดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง หรือสแลนตาข่ายพรางแสง หรือทำหลังคาจะช่วยป้องกันและลดความเสียหายของแรงกระทบจากน้ำฝนต่อเมล็ดและต้นอ่อนได้
  5. การหมั่นกำจัดวัชพืช นอกจากจะทำให้พืชเจริญเติบโตดีแล้ว ยังเป็นการลดแหล่งอาศัยของศัตรูพืชและทำให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน ช่วยลดความชื้นและทำให้การระบายอากาศในแปลงผักดี
  6. การรดแปลงผักด้วยน้ำปูนใส ช่วยให้กล้าผักมีความแข็งแรงและเพิ่มอัตรารอดตายจากโรคพืชที่เข้าทำลายได้ ทำได้โดยผสมปูนขาว 5 กิโลกรัมในน้ำ 20 ลิตร กวนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 คืนให้ตกตะกอน หลังจากนั้นนำน้ำปูนใสที่ตกตะกอนแล้วผสมน้ำอัตรา 1 ต่อ 5 รดแปลงผักสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง
  7. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยมีวิธีการดังนี้

– คลุกเมล็ดพันธุ์ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดผงคลุกเมล็ดในอัตรา 10 – 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เติมน้ำลงไปเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เชื้อราจับติดเมล็ดได้ดีขึ้น และนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกทันที

– ผสมกับดินปลูก ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปเชื้อสดที่ผลิตขยายบนเมล็ดธัญพืช 1 ส่วน ผสมกับรำข้าว 10 ส่วน และปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 40 ส่วน (โดยน้ำหนัก) ผสมให้เข้ากัน พรมน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ในที่ร่ม 1 – 3 คืน เพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโต จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับดินปลูกหรือรองก้นหลุม ประมาณ 1 กำมือต่อต้น หรือใช้โรยบริเวณโคนต้น หรือหว่านในแปลงที่ปลูกพีชแล้ว อัตรา 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตร

– การฉีดพ่น ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 1กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร โดยฉีดพ่นลงดินหรือบริเวณรากของพืช หรือฉีดพ่นส่วนบนของต้นพืช

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืช อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ หากพืชขาดน้ำในช่วงนี้ เมื่อฝนตกลงมาอีกครั้งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยเฉพาะพืชผักรับประทานผล จะทำให้ผลแตก และที่สำคัญเกษตรกรควรขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน หากอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยเกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามและขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน