กรมวิชาการเกษตร Kick Off วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนและการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เมืองลับแล หวังแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก และไม่ให้เกิดปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปกับผลผลิตทุเรียนทั้งในการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกไปยังประเทศจีน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Kick Off วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนและการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ณ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการตรวจติดตามผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในแปลงปลูกพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นการ Kick off การคุมเข้มการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
ทั้งนี้เพื่อทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ไม่ให้เกิดปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปกับผลผลิตทุเรียนทั้งในการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีน ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมวิชาการเกษตร นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนที่ดี มาใช้ในการผลิตทุเรียนในพื้นที่เขตจังหวัดอุตรดิตถ์
รวมทั้งการกำกับ และควบคุมคุณภาพตั้งแต่แปลงผลิต โรงคัดบรรจุ จนถึงหน้าด่านตรวจพืช ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตทุเรียนและโรงคัดบรรจุที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนล่าง ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ของโรงคัดบรรจุในจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 694 ชิปเมนท์ ปริมาณ 11,844 ตัน มูลค่าการส่งออก 1,398 ล้านบาท
ด้านนายละเอียด ปั้นสุข ผู้อำนวยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กล่าวว่า ได้มีการประชุมประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรปลูกทุเรียน ในการสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ต่อการส่งออกทุเรียน โดยมาตรการกำจัดในการผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ร่วมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าวให้กับผู้นำชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้เกิดความตะหนักถึงผลกระทบซึ่งหากตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งในประเทศ และการส่งออก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ดำเนินการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
ขั้นตอนที่ 2 ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องเร่งเข้าไปแนะนำให้ทันต่อช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการเข้าทำลายผลผลิตของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
ขั้นตอนที่ 3 เชิญผู้นำชุมชน ผู้แทนชุมชน ตัวแทนเกษตรกร เกษตรกร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานปกครองในพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ที่ปลูกทุเรียน ร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง (Kick off) ครอบคลุมพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำแปลงต้นแบบแหล่งผลิตทุเรียนที่ดี สำหรับจุดเรียนรู้ของเกษตรกรด้านเทคโนโลยีการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิต และวิธีการจัดการต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอลับแล และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
ขั้นตอนที่ 5 การติดตามและขยายผล การควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์
นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอลับแล สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และสำนักงานเกษตรอำเภอท่าปลา หน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรในพื้นที่ ในกิจกรรมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง ได้แนะนำแนวทางวิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกแบบผสมผสาน ดังนี้
(1) การเลือกใช้สารเคมีกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนถูกต้อง และเหมาะสม ได้แก่ การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดดักแด้ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดิน เมื่อดินมีความชื้นที่เหมาะสม ส่วนการฉีดพ่นสารเคมีบนต้นทุเรียนให้เริ่มฉีดพ่นในระยะผลทุเรียนตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์หลังดอกบาน โดยฉีดพ่นทุก 5-7 วัน และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน
(2) การแนะนำใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดดักแด้ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดิน ด้วยวิธีการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม หรือเชื้อราบิวเวอร์เรีย ในรูปแบบเชื้อสดอัตรา 400 กรัมต่อไร่ ผสมน้ำฉีดพ่นลงดินรอบทรงพุ่มในช่วงดินมีความชื้นเหมาะสมหรือเมื่อมีการตกของฝนแรกในพื้นที่ปลูก
(3) แนะนำให้เกษตรกรใช้กับดักแสงไฟ (หลอดแบล็คไลท์) ในแปลงปลูก และการแขวนเหยื่อพิษที่ต้นทุเรียน ในการล่อผีเสื้อกลางคืนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (ตัวเต็มวัย) ซึ่งการกำจัดผีเสื้อจะช่วยลดปริมาณการเข้าทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ผลผลิต
การใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ได้แก่ การใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม เชื้อราบิวเวอร์เรีย กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมนำมาร่วมผลิตขยายในพื้นที่ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การขยายเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอเรียให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร นำไปใช้กำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนพร้อมกับการสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผลิตใช้เองต่อไป