แนะ 5 วิธีพาสวนทุเรียน-ไม้ผลอื่นรอดจากภัยแล้ง แบบฉบับกรมวิชาการเกษตร

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” สั่งกรมวิชาการเกษตรจับมือกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาสวนทุเรียนและสวนผลไม้อื่นในภาวะฉุกเฉินที่กระทบภัยแล้ง 5 วิธี เน้น “เพิ่มความชื้นในทรงพุ่ม ด้วยการให้น้ำปริมาณอย่างน้อย 200 ลิตรต่อต้นต่อวัน-รักษาความชื้นในดิน-ไม่ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง-ไว้ผลต่อต้นในปริมาณที่เหมาะสม -พ่นด้วยสารเพื่อลดความรุนแรงจากอากาศร้อนและแล้ง” 

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกร สวนทุเรียน และสวนผลไม้อื่นๆ  ที่ถูกผลกระทบจากภัยแล้ง สั่งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแนวทาง แก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ทันที

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน และไม้ผลอื่น ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว  กรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ดังนี้

1.เพิ่มความชื้นในทรงพุ่ม โดยการให้น้ำปริมาณอย่างน้อย 200 ลิตรต่อต้นต่อวัน ด้วยการพ่นน้ำ หรือติดสปริงเกอร์บนต้นทุเรียน พร้อมให้น้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ในช่วงเช้ามืดเวลา 6.00-8.00 น. หรือ ช่วงเย็น เวลา 15.00-17.00 น. และเพิ่มเวลาการให้น้ำมากกว่าในช่วงเวลาปกติ เพื่อเป็นการระบายความร้อน ลดอุณหภูมิของอากาศ และเพิ่มความชื้นให้กับต้นทุเรียน

2.รักษาความชื้นในดิน โดยการคลุมดินด้วยเศษหญ้า หรือวัสดุคลุมโคนต้นทุเรียน 3.ไม่ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพราะจะกระตุ้นให้พืชแตกใบอ่อนส่งผลให้มีการใช้น้ำมากขึ้น 4.ไว้ผลต่อต้นในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ามีการติดผลมาก หากน้ำไม่เพียงพอแต่มีการติดผลมาก ต้องตัดผลทิ้งบางส่วน เพื่อให้ต้นอยู่รอด รวมทั้งตัดแต่งใบภายในทรงพุ่มออกเพื่อลดการคายน้ำ และ 5.พ่นด้วยสารเพื่อลดความรุนแรงจากอากาศร้อนและแล้ง เช่น  พ่นสารเคโอลิน  (Kaolin)  หรือดินขาวเคโอลิน ในอัตรา Kaolin 6% w/v อัตรา 1 กก./น้ำ 200 ลิตร

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในหลายจังหวัดพบว่าผู้ปลูกทุเรียนประสบปัญหาผลทุเรียนแตก เนื่องจากอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และขาดน้ำในหลายพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ สำรวจความเสียหายจากเกษตรกร พร้อมเร่งให้ความรู้ทางวิชาการ และคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉิน ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งของทุเรียนและผลไม้อื่นตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ