คุมเข้านำเข้ามะพร้าว หากพบแมลงศัตรูพืช การงอก ส่งกลับ-เผาทิ้งทันที

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตร คุมเข้มนำเข้ามะพร้าวทั้งในและนอกโควต้า พร้อมเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชและการงอกของมะพร้าว อย่างเคร่งครัด และทำการเปิดตรวจตู้ 100% ทุกชิปเม้นท์  เผยหากพบแมลงศัตรูพืช หรือการงอก ให้ดำเนินการส่งกลับหรือเผาทำลายทันทีทั้งชิปเม้นท์

       นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามนโยบาย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จากการประชุมหารือมาตรการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ด้านการผลิต ราคา การตลาด การนำเข้ากะทิ มะพร้าวแก่ปอกเปลือกจากต่างประเทศ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวของไทย จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศโดยเคร่งครัด

      โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษพญานาคราช ที่ทำงานบูรณาการตรวจ ร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร มหาดไทย และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ  โดยเฉพาะด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร ที่ต้องคุมเข้ม ควบคุมป้องกันการนำเข้ามะพร้าวในโควตา และนอกโควตา รวมถึงการเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชและการงอกของมะพร้าว โดยทำการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทำการเปิดตรวจตู้ 100% ทุกชิปเม้นท์ หากพบแมลงศัตรูพืช หรือการงอก ให้ดำเนินการส่งกลับหรือเผาทำลายทันทีทั้งชิปเม้นท์ พร้อมขยายผลตรวจเข้มสินค้าเกษตรอื่นๆ แนวชายแดน ป้องกันลักลอบนำเข้า และขอร่วมมือผู้ประกอบการร่วมปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด


ทั้งนี้วันที่ 31 มีนาคม 2567 ได้ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานการตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวัง โรค และศัตรูพืชที่อาจจะติดมาก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชร้ายแรง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจ และระบบการผลิตพืชของประเทศไทย  ซึ่งมะพร้าวแก่ปอกเปลือกที่นำเข้าต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช
รวมถึงประกาศกรมวิชาการเกษตร ที่เกี่ยวกับการนำเข้ามะพร้าว

       ปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าผลมะพร้าวแก่ปอกเปลือก เนื้อมะพร้าวสด เนื้อมะพร้าวแห้งจากมาเลเซีย เวียดนาม สหภาพเมียนมา และอินโดนีเซีย เพื่อการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยในปี 2566 มีการนำเข้ารวมประมาณ 127,901 ตัน 1,178 ชิปเมนท์ มูลค่าประมาณ 1,139 ล้านบาท

       อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ได้กำหนดด่านนำเข้าเพียง 2 ด่าน คือ ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้น การนำเข้าต้องแจ้งนำเข้า ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ เท่านั้น บทบาทหน้าที่ของด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร นอกจากจะควบคุมการนำเข้า ณ ด่านที่กำหนดแล้ว ยังได้สั่งการ ให้ด่านตรวจพืชทั่วประเทศทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ กรมศุลกากร ด่านอาหารและยา หน่วยงานความมั่นคง และองค์กรปกครองในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ามะพร้าวแก่ปอกเปลือกจากประเทศเพื่อบ้าน ลดผลกระทบต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมการผลิตกะทิของไทย

อีกทั้ง นโยบายของ รมว.เกษตรฯ ที่สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน และดำเนินคดีสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ซึ่งตนได้กำชับ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัด โดย รมว.เกษตรฯ มีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง ในช่วงเดือนเมษายน เพื่อคุมเข้มคุณภาพผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด ลำไย) และตรวจสอบมาตรฐาน GMP โรงคัดบรรจุ และมาตรฐาน GAP สวนผลไม้

       เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูการส่งออกผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสั่งการทีมพญานาคราชร่วมกับทีม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัด ลุยตรวจเข้ม 100% หากตรวจพบทุเรียนอ่อน และผลไม้ไม่มีคุณภาพ สั่งยึดอายัดใบ GMP/GAP ทันที