“1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” นำร่อง 83 กลุ่มใน 77 อำเภอ 40 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งขับเคลื่อนโครงการ “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เดินหน้าพัฒนายกระดับ 83 กลุ่มนำร่องด้านพืช 16 ชนิด ใน 82 ตำบล 77 อำเภอ 40 จังหวัด ยึดหลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันบูรณาการแผนงานและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง โดยได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ในระดับพื้นที่ (ตำบล) อย่างแท้จริง ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาส วางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain)

ตลอดจนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของกลุ่มเกษตรกร เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ การบริหารงาน และการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับพื้นที่ถึงระดับส่วนกลางในการขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” อย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ จึงได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตร มูลค่าสูง จำนวน 83 กลุ่ม ที่มีศักยภาพ ประกอบไปด้วยสินค้า 16 ชนิดพืช จาก 82 ตำบล 77 อำเภอ 40 จังหวัด นำร่องดำเนินการพัฒนายกระดับและต่อยอดในปี 2567 โดยจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก ที่มีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มกันจำหน่าย และมีตลาดในต่างประเทศ จำนวน 82 กลุ่ม

                                                                             พีรพันธ์ คอทอง

โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ขยายตลาดและขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก สนับสนุนกลไกการรวบรวม การคัดบรรจุ การขนส่งเพื่อการส่งออก อำนวยความสะดวกการตรวจรับรองมาตรฐาน มาตรการทางภาษี การขนส่งสินค้าข้ามแดน และอื่น ๆ และจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ที่มีการแปรรูปเป็นสินค้าที่มีตลาดภายในประเทศมีการจำหน่ายเป็นผลผลิตโดยตรงหรือมีการแปรรูป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจะส่งออกสูง จำนวน 1 กลุ่ม

ทั้งนี้มีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าให้สูงขึ้น ส่งเสริมการผลิตอาหาร Future Food และ Function Food บูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อนำงานวิจัย สู่การถ่ายทอด และส่งเสริมการตลาดภายในประเทศทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

นายพีรพันธ์  กล่าวอีกว่า โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570) มีเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดโครงการสามารถสร้างสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งด้านปศุสัตว์ และด้านประมง ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตำบล เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 สามารถลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดได้ในระยะยาว กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นได้

สำหรับภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทยจะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ โดยมีนโยบายและงานหลักสำคัญ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักสำคัญ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาที่เหมาะสม เกษตรกรบางส่วนยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีผลตอบแทนต่ำ

ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงกำหนดแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวขึ้น