บทพิสูจน์รายได้ชาวสวนยางพารา หลังรวมกลุ่มทำแปลงใหญ่ยางพาราจุดรวบรวมยาง ตำบลสุคิริน อำเภสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านทำปุ๋ยเอง และใส่ปุ๋ยแบบปุ๋ยสั่งตัด พบลดต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละถึง 43% ต่อปี ผลผลิตเพิ่มร้อยละ 20 และรายได้เพิ่มปีละ 37 %
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของแปลงใหญ่ยางพารา จุดรวบรวมยาง ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส แปลงใหญ่ต้นแบบในการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดี เน้นการพัฒนาคุณภาพ การเชื่อมโยงการตลาด และการบริหารจัดการกลุ่ม โดยใช้แนวทางพัฒนา Smart Group โดยในปี 2566 กลุ่มแปลงใหญ่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดัยจังหวัด
จากการติดตามของ สศท.9 พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ยางพาราจุดรวบรวมยาง ตำบลสุคิริน ที่เริ่มรวมกลุ่มเมื่อปี 2562 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 1,598 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 98 ราย (ปลูกเฉลี่ย 16 ไร่/ครัวเรือน) โดยมี นายสุทัศน์ เดิมหมวกเป็นประธานแปลงใหญ่ ซึ่งยางก้อนถ้วยเป็นยางที่เกิดจากการจับตัวของน้ำยางในถ้วย เป็นวัตถุดิบในการนำไปแปรรูปเป็นยางแท่งและยางเครพ การผลิตยางก้อนถ้วยจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการแปรรูปยางดิบ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ ประหยัดเวลา และใช้แรงงานน้อย
จากการสอบพบว่า ด้านสถานการณ์ผลิต เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่ากลุ่มแปลงใหญ่ยางพาราอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่จะมีการประมูลยางก้อนถ้วยโดยรวบรวมยางก้อนถ้วยจากสมาชิกเข้าประมูล ไม่มีการขายโดยตรงกับพ่อค้าทำให้ได้ราคาที่สูง ราคาประมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 แบ่งเป็น ยางก้อนถ้วย % เนื้อยาง 60 – 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.20 บาท/กิโลกรัม และ ยางก้อนถ้วน % เนื้อยาง มากกว่า 65 ขึ้นไป ขายได้ 33.33 บาท/กิโลกรัม
ด้านผลลัพธ์ที่สำเร็จจากการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ตามแนวทางพัฒนา 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต สมาชิกทำปุ๋ยผสมเองในสวนยางพารา ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงโครงสร้างดิน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนและแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตเหลือเพียง 1,470 บาท/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีต้นทุน 2,100 บาท/ไร่/ปี หรือ ลดลงร้อยละ 43
ด้านการเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใช้มูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่ มูลไส้เดือน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปุ๋ยให้มากขึ้นทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 162 กิโลกรัม/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีผลผลิตเฉลี่ย 135 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20
ด้านการพัฒนาคุณภาพ มีการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง จัดกิจกรรมการประกวดยางก้อนถ้วยในตลาดประมูลยาง ให้รางวัลกับสมาชิกที่ทำยางก้อนถ้วยคุณภาพดี ทำให้สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่มีการตื่นตัวในการทำยางก้อนถ้วยได้คุณภาพดี ทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป 5 บาท/กิโลกรัม
ด้านการตลาด ผลผลิตทั้งหมดกลุ่มแปลงใหญ่จะนำเข้าตลาดประมูลยางพาราเพื่อทำให้สมาชิกมีอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อมากขึ้นลดปัญหาด้านการขนส่งและทำให้ราคาท้องถิ่นในพื้นที่ประมูลยางมีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่มได้รับราคาที่สูงขึ้นไปด้วย
ด้านการบริหารจัดการ มีจุดรวบรวมยางพาราของตลาดประมูลยางกลุ่มแปลงใหญ่ 2 จุดรวบรวม เพื่อให้สมาชิกสะดวกในการนำยางเข้าตลาดประมูลโดยตรง โดยมีคณะกรรมการคัดคุณภาพยางทุกจุดรวบรวม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มแปลงใหญ่และสามารถพัฒนาเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวน กยท.ชาวสุคิริน ซึ่งเป็นกลุ่มนิติบุคคล โดยจดทะเบียนกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส
ทั้งนี้ จากผลสำเร็จการดำเนินการของกลุ่มแปลงใหญ่ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้จากยางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 88,065 บาท/ปี/ราย จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ย 73,388 บาท/ปี/ราย หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37