กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าดันไทยเป็นผู้นำผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก ไฟเขียวห้องปฏิบัติการให้ภาคเอกชน

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าดันไทยเป็นผู้นำผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก หวังให้ถึงเป้าหมายส่งออกมูลค่าปีละกว่า 15,000 ล้านบาท ล่าสุดไฟเขียวห้องปฏิบัติการภาคเอกชนร่วมตรวจสอบศัตรูพืชตั้งเป้าส่งออกเมล็ดพันธุ์กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ล่าสุดมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืช ให้บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ที่ผ่านการประเมินความสามารถแล้ว

       นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มรายได้ภาคการเกษตร เป็น 3 เท่าใน 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน  ซึ่งในการประชุม Asian Seed Congress ในปี 2022 กรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมร่วมกับสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ได้ประกาศว่าประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก

      ทั้งนี้เพื่อผลักดันการส่งออกเมล็ดพันธุ์มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งการที่จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นจะต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการให้ความสำคัญกับการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจศัตรูพืช โดยให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการส่งออก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมาการตรวจสอบเชื้อโรคพืชในพืช และผลิตผลพืชเพื่อประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชนั้นดำเนินการโดยกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เท่านั้น โดยในปี 2566 ประเทศไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์ ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวม 25 ประเทศ จำนวน 36,917.88 ตัน คิดมูลค่า 9,254.47 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี โดยเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดใน 3 ลำดับแรกได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ และเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง  กรมวิชาการเกษตรจึงมีนโยบายถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบโรคพืชให้ห้องปฏิบัติการเอกชนหรือหน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตรในฐานะที่เป็นองค์การอารักขาพืชแห่งชาติ


นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ออก “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565” ซึ่งกำหนดให้การตรวจสอบศัตรูพืชเพื่อประกอบการพิจารณาออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสามารถดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับความสามารถ ซึ่งขณะนี้มีห้องปฏิบัติการเอกชนที่ได้รับการยอมรับความสามารถเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชโดยกรมวิชาการเกษตร และได้ออกหนังสือรับรองให้แล้ว 4 บริษัท คือ บริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ซีด เทสท์ แล็บส์ เอเชีย จำกัด บริษัท เจียไต๋ จำกัด และล่าสุดห้องปฏิบัติการของบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้ผ่านการประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว

“การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชของเอกชน หรือหน่วยงานอื่นเป็นการอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชว่าพืช หรือผลิตผลพืช ที่ส่งออกจากประเทศไทยปลอดจากศัตรูพืช และเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นระบบการรับรองสุขอนามัยพืชของไทย และต่อยอดให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และการค้าเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งความรวดเร็วในการให้บริการตรวจสอบรับรองฯ จะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันการค้าด้านเมล็ดพันธุ์พืชกับประเทศอื่น ๆ ด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว