กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขยายผลงานวิจัย “จากหิ้งสู่ห้าง” นำเทคโนโลยี นวัตกรรมเกษตร จัดทำแปลงสาธิตขยายผลการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก. 1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด คาดจะได้ผลผลิตไร่ละ 300 กิโลกรัมต่อไร่ในฤดูฝน และ 350 กิโลกรัมในฤดูแล้ง และสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 9,000 บาท/ฤดูกาล
นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำแปลงสาธิตขยายผลการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก. 1 เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการนำโครงการที่ได้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) คาดว่าในฤดูฝนจะมีปริมาณผลผลิตที่ได้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ในฤดูแล้งจะมีปริมาณผลผลิตที่ได้ 350 กิโลกรัมต่อไร่
กฤษ อุตตมะเวทิน
ทั้งนี้หวังว่า การขยายผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่และเกษตรกร จะเป็นเครื่องมือสำคัญภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรที่จะยกระดับอาชีพภาคการเกษตรของเกษตรกร ให้มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
นายกฤษ กล่าวอีกว่า ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก. 1 มีลักษณะประจำพันธุ์ที่ดี คือ ทรงต้นแบบพุ่มตั้ง ไม่ยืดเลื้อย เปลือกฝักมีลาย เมล็ดใหญ่ เก็บเกี่ยวง่าย ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคยอดไหม้ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมจากผลงานวิจัยสู่พื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการเรียนรู้ การยอมรับเทคโนโลยี และขยายผลในวงกว้าง สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 9,000 บาท/ฤดูกาลผลิต ในพื้นที่เหมาะสม สามารถส่งเสริมการปลูกทดแทนการทำนาปรัง หรือในช่วงฤดูแล้งเขตนาน้ำฝนที่มีสภาพดินร่วนหรือร่วนปนทราย ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยวผลผลิต
สำหรับการขยายผลงานวิจัยดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการผลิตและการกระจายพันธุ์ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลรักษา การให้ปุ๋ยตามความต้องการ การให้ธาตุอาหารเสริมที่จำเป็นต่อความสมบูรณ์ของเมล็ด การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลในการปลูก การเก็บเกี่ยว ลดการใช้แรงงานเกษตร ซึ่งหายากขึ้นและส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงวัย เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการผลิตถั่วลิสงในเชิงธุรกิจ และแก้ไขปัญหาการผลิตถั่วลิสงแบบเดิมๆ ของเกษตรกร
ส่วนสถานการณ์การผลิตถั่วลิสงที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณผลผลิต ประมาณ 25,000 ตัน มีความต้องการใช้ จำนวน 113,500 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งการบริโภค และการป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศปริมาณสูงถึง 89,400 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2564) นอกจากนี้ ความต้องการถั่วลิสง เพื่อการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้ที่รักสุขภาพเพิ่มขึ้น เน้นการดูแลสุขภาพเน้นการดูแลสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันต่ำ เพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืช ดังนั้น ถั่วลิสงจึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่มีอนาคตทางการตลาด