ม.อ.ร่วมกับ สมาคมนวัตกรรมฯดันทุเรียนมือใหม่ ทำทุเรียนใต้ให้มีคุณภาพ GAP

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน  เกษตรจังหวัดสงขลา และสมาคมทุเรียนใต้ จัดอบรม“ทุเรียนมือใหม่กับคุณภาพตามมาตรฐาน GAP” นำความรู้จากวิทยากรระดับแนวหน้าด้านการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือมาตรฐาน GAP ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรในฟาร์ม ตั้งแต่ การเลือกพื้นที่ การให้น้ำ ปัจจัยการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การจดบันทึก การตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้ทุเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนรุ่นใหม่และผู้สนใจ จำนวน 250 คน

ดร. นฤมล พฤกษา คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาชุดความรู้และกลไกการจัดการความรู้สำหรับการผลิตทุเรียนคุณภาพ ที่มีจัดอบรม“ทุเรียนมือใหม่กับคุณภาพตามมาตรฐาน GAP” ที่จัดระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม 2566 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดความรู้ในการผลิตทุเรียนคุณภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดภาคใต้  โดยศึกษาวิจัยความรู้จาก 2 แหล่ง คือ

  1) ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ซึ่งรวบรวมจากคู่มือ หนังสือ หรือเอกสารต่างๆ และ 2) ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติของเกษตรกรต้นแบบหรือผู้เชี่ยวชาญ  โครงการฯ จะนำชุดความรู้ที่พัฒนาขึ้นไปเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์  และจะพัฒนากลไกในพื้นที่เพื่อจัดการชุดความรู้  โดยคาดหวังว่าการมีชุดความรู้นี้จะทำให้การผลิตทุเรียนของเกษตรกรมีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้น อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจากนี้มีการบรรยายพิเศษจากฉายามือปราบทุเรียนอ่อน คุณชลธี นุ่มหนู ที่ปรึกษากรรมธิการการเกษตร หรืออดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการควบคุมคุณภาพทุเรียนอ่อน ซึ่งมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ชาวสวน มือตัด และ โรงคัดบรรจุ ชาวสวนต้องมีการจดบันทึกวันดอกบาน เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยว และต้องมีการตรวจก่อนตัด เช่น การสุ่มวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง (ประมาณ 27-32 %  ขึ้นอยู่กับพันธุ์) มือตัด ต้องมีการขึ้นทะเบียนมือตัด และอบรมนักตัดทุเรียน สำหรับโรงคัดบรรจุ ต้องยกระดับให้ได้มาตรฐาน มีการอบรม QC  มีการตรวจก่อนบรรจุกล่อง สวนและโรงคัดบรรจุต้องพร้อมรับการสอบทวนย้อนกลับ

โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ศึกษาดูงานในสวนทุเรียนเจ้ด๋วน อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice)  ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมออกเป็น 4 ฐาน  ได้แก่ การบริหารจัดการมาตรฐาน GAP ของทุเรียน  2. การใช้สารกําจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย 3. การใช้และดูแลรักษาเครื่องพ่นสารชนิดต่าง ๆ ในทุเรียน 4. ส่งเสริมระบบการจัดการน้ํา เทคนิคส่งเสริมการออกดอก และติดผล / การจัดการธาตุอาหาร  ทั้งนี้ เกษตรจังหวัดสงขลาได้ชี้แนะแนวทางการกรอกคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เพื่อเตรียมการยื่นขอตรวจแปลงทุเรียนต่อไปกับ สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร มาตราฐาน GAP เป็นกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม และผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่ นักศึกษานิวเจนที่สนใจด้านการเกษตรได้ผลิตทุเรียนใต้ให้มีคุณภาพ GAP ต่อไป

ด้าน รศ.ดร. ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า การควบคุมโรคในสวนทุเรียนแบบผสมผสาน หมั่นตรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ มีการตัดแต่งกิ่งเพื่อลดความชื้นในทรงพุ่ม ตัดแต่งร่องรอยที่เกิดโรคเพื่อลดความรุนแรง ปรับสภาพการระบายน้ำในแปลง ตรวจสภาพดินภายใต้ทรงพุ่ม ความเป็นกรดด่างของดิน การใช้ปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ดินและความสมบูรณ์ของต้น การเลือกใช้สารให้ตรงกับเชื้อสาเหตุ และฉีดพ่นอย่างทั่วถึง  โรคสำคัญในสวนทุเรียน ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อไฟทอปธอร่า การป้องกันกำจัดใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา หว่านในพื้นที่รัศมีทรงพุ่ม หรือละลายน้ำฉีดพ่นทั่วแปลง  นอกจากนี้แล้วยังมีโรคกิ่งแห้งที่เกิดจากเชื้อฟิวซาเรียมซึ่งมีความสัมพันธ์กับมอดที่เข้าทำลายต้น

ขณะที่ ดร.พุทธชาติ ปุญวัฒโท สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เทคนิคในการกำจัดแมลงในสวนทุเรียน สิ่งสำคัญคือ 1) ต้องรู้จักศัตรูพืช โดยแมลงศัตรูสำคัญได้แก่ หนอนเจาะเมล็ด หนอนเจาะผล มอด ไรแดงอัฟริกัน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เป็นต้น 2) รู้จักผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิด ใช้สารชนิดไหน กลไกเป็นอย่างไร การเข้ากันได้ของสารแต่ละชนิด เพราะอาจต้องมีการผสมสารมากกว่า 1 ชนิด 3) รู้วิธีการพ่นที่เหมาะสม 4) สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อประสิทธิภาพของสารเคมีที่ใช้ และ 5) ต้องปลอดภัย