กรมวิชาการเกษตร เดินลุยขยายพันธุ์สับปะรด “กวก. เพชรบุรี 2” ชี้เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป มีน้ำหนักเนื้อสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย แกนผลเล็ก อัตราการสูญเสียเนื้อต่ำ ผลทรงกระบอก เหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง พร้อมเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตหน่อพันธุ์อย่างง่าย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้เดินหน้าขยายผลสับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตรวิจัยและพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ทดแทนสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่เกษตรกรปลูกเพียงพันธุ์เดียวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานทำให้เกิดการกลายลักษณะไม่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น เกิดหนามตลอดทั้งใบ ผลไม่เป็นทรงกระบอก สีเนื้อไม่สม่ำเสมอ อ่อนแอต่อโรค ผลขนาดเล็กลงส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 2 เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป มีอัตราส่วนน้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย แกนผลเล็กทำให้ได้ปริมาณเนื้อสำหรับแปรรูปสูง อัตราการสูญเสียเนื้อต่ำ ผลทรงกระบอก เหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง ความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 13.9 – 17.9 องศาบริกซ์ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 9 ตัน/ไร่ เกษตรกรที่ได้รับพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2 ไปปลูกจะได้ผลผลิตมีคุณภาพส่งโรงงานเพื่อแปรรูป จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี เร่งขยายพันธุ์ไปสู่เกษตรกร
ด้านนางสาวมัลลิกา นวลแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กล่าวว่า การขยายพันธุ์สับปะรดด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการขยายพันธุ์สับปะรดให้ได้ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น แต่เกษตรกรอาจจะต้องมีการดูแลมากและปฏิบัติได้ยาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรีจึงได้พัฒนาวิธีการขยายพันธุ์อย่างง่ายโดยวิธีการตัดช่อดอกอ่อน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้จำนวนหน่อปริมาณเพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาการผลิตหน่อ โดยสามารถบังคับการออกดอกได้เมื่อต้นมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (อายุ 5-7 เดือนหลังปลูก) หลังการบังคับการออกดอกประมาณ 2 เดือนก้านช่อดอกเริ่มยืดตัวจึงตัดช่อดอกอ่อนออกเพื่อให้เกิดการแตกหน่อ โดยสามารถเก็บเกี่ยวหน่อหลังจากการตัดช่อดอก 2-3 เดือน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดระยะเวลาการผลิตหน่อลงเหลือ 9-11 เดือน
การขยายพันธุ์สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 2 ได้รับความสนใจอย่างมากจากเกษตรกร จากการสำรวจความต้องการเบื้องต้นได้รับการตอบรับจากเกษตรกร 8 กลุ่ม รวม 235 ราย รวมเป็นจำนวนหน่อ 1,975,000 หน่อ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรีจะจัดทำแผนการผลิตและแจกจ่ายต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายหน่อพันธุ์ที่จะส่งมอบให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจังหวัด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกับได้จัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 และการขยายพันธุ์อย่างง่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการอบรมจะได้รับหน่อพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2 จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรีไปสร้างแปลงพันธุ์เพื่อผลิตหน่อพันธุ์แบบการตัดช่อดอกอ่อนกระจายสู่เกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายต่อไป
สับปะรดเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ดังนั้นการขยายพันธุ์สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 2 ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศในระดับที่เติบโตอย่างมั่นคง มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความได้เปรียบสูง ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ