ชาวสวนลำไยเมืองจันท์ผวาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 67 พาการพักต้นแล้วกว่า 28,900 ไร่ ขณะที่ในเขตชลประทานเกษตรกรโค่นทิ้งหันมาปลูกทุเรียน คาดอาจส่งผลให้ผลผลิตของลำไยฤดูกาลผลิต 66/67 มีปริมาณที่ลดลง
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงรวบรวมและคัดบรรจุลำไยนิรันดร์ และพบปะเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ณ ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดรายงานว่าในจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ปลูกลำไย จำนวน 268,449 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดในฤดูกาลนี้ ประมาณ 326,500 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 1,222 กิโลกรัมต่อไร่ กระจายอยู่ในทุกอำเภอ มากที่ที่สุด คือ อำเภอสอยดาว และอำเภอโป่งน้ำร้อน จำนวน 143,205 และ 119,583 ไร่ ตามลำดับ ขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 10,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.06 ราคารับซื้อผลผลิตฯ (แบบเหมาสวน) อยู่ที่ 30 – 40 บาท/กก. ส่วนเกษตรกรที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัท/โรงคัดบรรจุที่รับซื้อผลผลิต จะอยู่ที่ 30 – 32 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การผลิตลำไย ฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ปลูก พื้นที่ให้ผล และผลผลิตต่อไร่ มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกษตรกรในเขตชลประทานเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกเดิม (ลำไย) ไปเป็นทุเรียน ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เริ่มมีการปรับเปลี่ยนพืชไปปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง อีกทั้งราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตลำไย โดยเฉพาะโพแทสเซียมคลอเรต มีการขยับราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรลดขั้นตอนการเตรียมความพร้อมให้ต้นสมบูรณ์ (ทำใบเพียงแค่ 2 ชุด) ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น ในปี 2567 จึงพากันพักต้นแล้วกว่า 28,900 ไร่ ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตของลำไยฤดูกาลผลิต 2566/67 มีปริมาณที่ลดลง