กระทรวงเกษตรฯ หารือแนวทางการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้า และแก้ไขปัญหาหมอกควัน เผยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดกาแฟ 8 หมื่นตันกาแฟสาร แต่ผลิตได้แค่ 2 หมื่นตัน
นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเรื่อง การส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้า ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meeting) เพื่อพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินการตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญ และการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ในประเด็นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรทดแทนการนำเข้า/ส่งเสริมการส่งออก (กาแฟ) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดกาแฟ ประมาณ 80,000 ตัน (กาแฟสาร) โดยสามารถผลิตได้ภายในประเทศ 20,000 ตัน และเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 60,000 ตัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการส่งเสริมการปลูกกาแฟร่วมกับพืชชนิดอื่น เพื่อทดแทนการนำเข้า ได้แก่ การส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่สวนยางพารา โดยร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะมีเงินอุดหนุนให้เกษตรกร ไร่ละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพารา และพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ทดแทนการทำสวนยางพารา โดยมีแผนการส่งเสริมจำนวน 10,000 ไร่ ผลผลิตคาดว่าจะได้รับ (กาแฟสาร) ประมาณ 3,000 ตัน รวมถึงการส่งเสริมการปลูกกาแฟแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนดอย เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน (PM 2.5) ที่เกิดจากการเผาเศษซากวัสดุหลังการเก็บเกี่ยว ในพื้นที่เขตจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด อาทิ ตาก น่าน เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ ลำปาง และเชียงราย เป็นต้น มีแผนการส่งเสริมจำนวน 200,000 ไร่ ผลผลิตคาดว่าจะได้รับ (กาแฟสาร) ประมาณ 60,000 ตัน
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการวิจัยต้นแบบการส่งเสริมการผลิตกาแฟทดแทนการนำเข้าอย่างครบวงจร แบ่งเป็น 1) ระยะต้นน้ำ ด้านการพัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิต 2) ระยะกลางน้ำ ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูป และ 3) ระยะปลายน้ำ ด้านการตลาด ด้วย