ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลัง ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จัดระเบียบคุมเข้มมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก ในพื้นที่ภาตใต้สั่งการ ผอ. สคว. ผนึกกำลัง ผอ.สวพ. 7 และ ผอ. สวพ. 8 กำกับดูแลในพื้นที่อย่างเคร่งครัด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน เปิดประชุม “จัดระเบียบคุมเข้มมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก ในพื้นที่ภาคใต้ ฤดูกาลผลิตปี 2566” แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของจังหวัดชุมพร นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้มอบนโยบายด้านการส่งออกทุเรียนของจังหวัดชุมพรด้วย
นายระพีภัทร์ ย้ำเกษตรกรชาวสวนทุเรียนว่า เมื่อตัดทุเรียนส่งโรงคัดบรรจุ ต้องแสดงใบ GAP ให้โรงคัดบรรจุ เพื่อที่จะเป็นการยืนยันตัวตน ตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งทางประเทศจีนได้ขึ้นทะเบียน GAP ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 66 โดยเป็น GAP ทุเรียน จำนวน 74,136 แปลง อยู่ในภาคใต้ 38,181 แปลง และ ล่าสุดวันที่ 15 มิ.ย. 66 ทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งทะเบียน GAP ให้จีนผ่านทูตเกษตรปักกิ่ง เพื่อขี้นทะเบียนในรอบถัดไปแล้ว อยู่ระหว่างรอจีนพิจารณาขึ้นทะเบียน โดยเป็น GAP ทุเรียน จำนวน 72,488 แปลง อยู่ในภาคใต้ 40,107 แปลง จึงมั่นใจว่าจำนวนใบ GAP สำหรับการส่งออกมีเพียงพออย่างแน่นอน ดังนั้น เพื่อให้สอดรับมาตรฐานการส่งออกตามพิธีสารไทย-จีน หากใบ GAP ส่งออกไม่ได้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมวิชาการเกษตร 081-9384408
“ทุเรียนใต้ ต้องได้ทั้งคุณภาพเหมือนภาคตะวันออก บูรณาการตรวจเข้มลงพื้นที่ 27-28 มิ.ย นี้ เปิดสายด่วน กรมวิชาการเกษตร 081-9384408 พร้อม ขึ้นทะเบียน GAP บริการ Clinic เกษตรเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ประชาชน เกษตรกร เน้นย้ำ มาตรการควบคุมคุณภาพและป้องกันสวมสิทธิ์ทุกรูปแบบโดยการบรูณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทาง DOA Together” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ด้าน นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ที่รับผิดชอบโดย สวพ. 7 และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่รับผิดชอบโดย สวพ.8 กล่าวว่า ในพื้นที่มีการให้บริการ “GAP Mobile เคลื่อนที่” และบริการ Clinic เกษตรเคลื่อนที่ ในการขึ้นทะเบียนสวน GAP ให้กับเกษตรกรเป็นระยะ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างการรับรู้ ความเข้าใจในการผลิตทุเรียนคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP ไม่ตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพ รวมทั้งความสำคัญของการใช้ใบรับรอง GAP เพื่อจำหน่ายผลผลิต ทวนสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้
ทั้งนี้ สวพ. 7 และ สวพ. 8 มีความมุ่งหวังที่จะให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการส่งออกผลไม้ สามารถบริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐาน มกษ. ๙๐๔๗ – ๒๕๖๐ มาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน มาตรการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู
โดยได้จัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจในการตรวจคุณภาพทุเรียน จำนวน 104 ราย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปฏิบัติงานเพื่อรองรับการดำเนินการส่งออกทุเรียนตลอดฤดูกาล โดยชุดเฉพาะกิจดังกล่าว ได้ออกตรวจติดตามล้ง ตั้งแต่ก่อนวันประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน วันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้าตรวจ ทุกตู้ ทุกล้ง เพื่อทำการตรวจแยกสีล้ง ให้เป็นสีเขียว เหลือง แดง หลังวันที่ 10 มิ.ย. มีการวางแผนการเข้าตรวจตามประเภทล้งที่ได้จัดเกรดไว้ ล้งที่ได้สีเขียว หมายถึง ล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด ส่วนสีเหลืองและแดง คือล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้างและจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นขอเชิญชวนให้ทุกล้ง ปฏิบัติตามแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดเพื่อเป็นสีเขียวซึ่งถือว่าเป็นชื่อเสียงของแต่ละแห่งด้วย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกล้ง ช่วยตรวจสอบทุเรียนก่อนซื้อ ไม่ซื้อทุเรียนอ่อนจากมือตัดที่ไม่รักษากติกา เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดออกมาตลาดหรือส่งออก เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของทุเรียนไทย และสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคและเป็นไปตามข้อกำหนดพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
ขณะที่นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพืชและวัสดุการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของการปิดตู้ก่อนการส่งออกได้มีการจัดเพิ่มกำลังนายด่านตรวจพืชเป็น 30 คน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบศัตรูพืช โรค แมลงที่อาจติดไปกับผลทุเรียน ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) เพื่อการส่งออก ตามพิธีสารที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศจีน โดยกรมวิชาการเกษตร จะบูรณาการร่วมกับจังหวัดชุมพร ลงพื้นที่ตรวจเข้มในวันที่ 27-28 มิ.ย นี้