รวมกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ป้อน “เลมอน ฟาร์ม” ปลดแอกความจน สร้างรายได้เดือนละกว่า 4 แสน

  •  
  •  
  •  
  •  

ย้อนไปก่อน ปี 2559  ณ บ้านวังร่อง ต.ไร่ห้วย อ.หลุ่มสัก จ.เพชรบูรณ์ วิถีชีวิตของชาวบ้านยึดอาชีพการเกษตรแบบสมัยนิยมทั่วไป ที่พึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี เป็นปัจจัยการผลิต สิ่งที่ตามมาอย่างชัดเจน ต้นต้นการผลิตสูง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง สภาพดินดินเสื่อมอย่างรวดเร็ว สุขภาพของเกษตรกรเอง และผู้บริโภคทรุดลงจากพิษของสารเคมี ในที่สุด “ไพฑูรย์ อินหา” ผู้ใหญ่บ้านของบ้านวังร่อง หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 5 ต.ห้วยไร่ และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านวังร่อง จ.เพชรบูรณ์ มาปฏิวัตภาคการเกษตรในหมู่บ้านครั้งใหญ่ผลิกแปลงเกษตรที่ใช้เคมี มารวมกลุ่มหันมาทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ป้อน “เลมอน ฟาร์ม” สร้างรายได้สู่เกษตรกรเดือนละกว่า 4 แสนบาท ดีกว่าทำนาหลายเท่าตัว ส่งผลทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีขึ้นเห็นอย่างชัดเจน เพียงปลูกผักแค่ 2 งาน ทำรายได้ปีละเป็นแสน ขณะที่ทำนาที่เป็นอาชีพหลัก 10 ไร่ได้ 6 หมื่นบาท 

ไพฑูรย์ บอกว่า มารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านใน ปี 2556 เกิดแนวคิดที่จะหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรในชุมชน ลดการใช้สารเคมี จึงได้ไปเรียนรู้แนวทางการทำเกษตรตามแนวอินทรีย์ในโครงการพระราชดำริต่างๆ ทั้งโครงการพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ภูพาน ห้วยทราย แหลมผักเบี้ย โครงการช่างหัวมัน ทุกโครงการทำให้ผู้ใหญ่ได้แนวทางการทำเกษตรโดยไม่ต้องใช้สารเคมี จึงเริ่มมาทำเกษตรในพื้นที่ของตัวเองก่อนในปี 2559 เริ่มจากการบำรุงดิน ฟื้นชีวิตให้กับดินตามองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้มา ใช้เวลา 1 ปี ในการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม ดินแน่นแข็ง ขาดธาตุอาหาร จนได้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะปลูกพืชได้ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หลังประสบความสำเร็จก็เริ่มถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการให้กับชาวบ้านปี 2561 เริ่มมีการรวมตัวของชาวบ้านที่มีแนวคิดเดียวกัน สมาชิกเริ่มต้นเพียงกี่คน ทำไปเรื่อยๆ และสามารถขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ ปี 2563 จัดตั้งกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านวังร่อง “มีสมาชิกทั้งหมด 83 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตามในช่วงแรก การทำตลาดนำไปขายในตลาดชุมชน ตลาดในพื้นที่ก่อนซึ่ง อ.หล่มสัก มีตลาดค้าส่งผักในพื้นที่อยู่แล้ว โดยสมาชิกจะนำผลผลิตมารวมที่กลุ่มแล้วนำผลผลิตขายรวมกันเพื่อให้ผักแต่ละชนิดมีปริมาณมากพอ มีคุณภาพเดียวกัน เพราะเกษตรกรแต่ละรายจะปลูกผักในพื้นที่ไม่มาก ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก บางคนมีพื้นที่ปลูกไม่ถึงไร่ บางคนมีพื้นที่ 1-2 ไร่ บางคน 4-5 ไร่ ในปี 2564 ได้นำผลผลิตของกลุ่มไปเสนอ เลมอน ฟาร์ม นำเสนอวิธีการ ขบวนการผลิตของกลุ่ม และทางเลมอน ฟาร์ม ได้เข้ามาแนะนำวิธีการผลิตเพิ่มเติมจนทำให้แปลงผักสมาชิกได้มาตรฐาน PGS(ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) ของ เลมอน ฟาร์ม แล้ว 48 ครัวเรือน และได้มาตรฐาน PGS ของพัฒนาที่ดิน 53 ครัวเรือน

หลังจากใช้เวลาปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ เลมอน ฟาร์ม กำหนด เดือนเมษายน 2564 ผักของกลุ่มก็ได้เริ่มต้นส่งให้กับเลมอน ฟาร์ม ช่วงแรกส่งเพียงอาทิตย์ละครั้ง ปี 65 เพิ่มเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันส่งอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ในวันจันทร์ พฤหัส เสาร์ โดยแต่ละรอบจะส่งผักรวมประมาณ 400-500 กก. แต่ละเดือนสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มกว่า 4-5 แสนบาทโดยผักที่ทางกลุ่มทำสัญญาผลิตเพื่อส่งให้กับเลมอน ฟาร์มมีมากกว่า 50 ชนิด ผักที่ผลิตและจำหน่ายปริมาณมากก็จะเป็นผักสลัด กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ กระเพรา โหระพา สาระแหน่ แตงกวา ถั่วฝักยาว และเร็วๆนี้ ทางกลุ่มจะได้เปิดร้าน ที่ พิษณุโลก ในแบรนด์ ไทหล่ม ปันสุข ซึ่งตอนนี้อยู่ช่วงระหว่างการตกแต่งร้าน เป็นต้น

แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้ เขาบอกว่า ไม่มีใครเห็นด้วย แม้แต่ภรรยาเองก็ไม่เชื่อเธอให้เหตุผลว่า มีความเป็นไปไม่ได้ที่จะปลูกผักโดยปราศจากการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีในการที่จะปราบแมลงศัตรูพืช ต้องทำโชว์ในพื้นที่ของตัวเองจนเป็นที่ยอมรับในวันนี้ได้ (รายละเอียดในคลิป)

ด้าน ประยูร ทองวรรณ  สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านวังร่อง เดิมอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักในพื้นที่ 10 ไร่ ตอนหลังมาปลูกผักหลังนาเป็นอาชีพเสริม ตอนหลังมาทำปลูกผักอินทรีย์ในนามสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านวังร่อง พบว่าพบว่ารายได้ดีกว่าทำนา เลยแบ่งพื้นที่ปลูกผัก 2 งานใช้แรงงานแค่ 2 คนในครอบครัว สามารถทำเงินให้ได้มากกว่าแสนบาทต่อปี ขณะที่นา 10 ไร่ รายได้แค่ 6 หมื่นบาท ทำให้ตอนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก สุขภาพก็ดีด้วย เพราะผักที่ปลูกไม่ได้ใช้สารเคมีนั่นเอง

สนใจข้อมูล วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านวังร่อง 60/1 ม.5 ต.ห้วยไร่ อ.วังร่อง จ.เพชรบูรณ์ 08-8780-8548