กรมส่งเสริมการเกษตร เอาจริงปีหน้า 2566 เดินหน้าแก้ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ เริ่มแล้วสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา 337 เครือข่าย จำนวน 17,640 ราย สร้างต้นแบบ สนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 62 จังหวัด
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายในการการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน
ดังนั้นในปี 2566 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกร Young smart farmer หรือเกษตรกร Smart farmer รวมถึงเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 17,640 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา และสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย
เป้าหมายในพื้นที่ 62 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมอยู่เป็นประจำทุกปี และพื้นที่ 52 จังหวัดที่มีการเผาในภาคการเกษตรสูง ดำเนินการโดยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เทคนิคและวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา ตลอดจนมีการสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันของเกษตรกรเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา สร้างวิทยากรอาสาสมัครด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา นำร่องสาธิตการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่การเกษตร สนับสนุนให้เกิดจุดสาธิตเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาตามบริบทของชุมชน อาทิเช่นการไถกลบตอซัง การนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อาหารสัตว์ เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน เพาะเห็ดฟาง รวมทั้ง การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง เพื่อลดการเผาข้าวโพดบนพื้นที่สูง เป็นต้น
สำหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่เกษตร จำนวน 1,915 จุด เทียบกับปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 จำนวน 3,413 จุด ลดลงไปร้อยละ 43.89