“มนัญญา” คิดข้ามช๊อต สั่งกรมวิชาการเกษตร เตรียมพร้อมเมล็ดพันธุ์พืชช่วยเกษตรกรเหยื่อ “โนรู”

  •  
  •  
  •  
  •  
“มนัญญา” วางแผนข้ามช๊อต สั่งกรมวิชาการเกษตร เตรียมพร้อมเมล็ดพันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต รับมือช่วยเหลือกรณีเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โนรู” ในพื้นที่อุทกภัยภาคอีสาน พร้อมวาง 5 มาตราการในการช่วยเหลือด่วน

       นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์พายุ โนรู ที่ส่งผลต่อประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความกังวลและห่วงใย พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ติดตามสถานการณ์พายุโนรู และสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และ 4 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมวิชาการเกษตร ให้เตรียมการดังนี้

       1. กองแผนงาน เป็นศูนย์กลางรับเรื่องประสานงานกับ สวพ เขต และ รวบรวมข้อมูลความเสียหายของหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ

       2. กองแผนงาน ประสานงานกับ สำนักแผนงานและโครงการพิเศษกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนร่วมกัน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ

       3. กองวิจัยเมล็ดพันธุ์ สำรวจชนิดและปริมาณเมล็ดพันธุ์พืช/ปัจจัยการผลิตในแต่ละเขต ศูนย์ เพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยให้เตรียมความพร้อมเมล็ดพันธุ์ที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ แจ้งข้อมูลความพร้อมมายังกองแผนงาน

       4. ให้ผู้อำนวยสำนักวิจัยและพัฒนาเขต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเร่งตรวจสอบและป้องกันความเสียหายของหน่วยงาน รวมถึงให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วน

       5. หากหน่วยงานใด มีข้อเสนอแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่นการจัดทำถุงยังชีพ และ ความช่วยเหลืออื่นๆ ให้ประสานกับ คุณอนุสรา 094-3728665 เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอกรมวิชาการเกษตรให้ดำเนินการโดยด่วน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตร พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุโนรู โดยการเฝ้าระวังพื้นที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญตลอดจนความเสียหายและประเมินความเสียหาย เตรียมพร้อม เมล็ดพันธุ์พืชผัก และ ปัจจัยการผลิตอื่นๆ อาทิเช่น ชีวภัณฑ์ ปุ๋ยชีวภาพ  เกษตรกรสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือ ได้ที่หน่วยงานของกรมวิชาเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ