เตรียมโชว์!! การผลิต-ส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงในที่ประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ครั้งที่ 27 ตอกย้ำไทยพร้อมเป็น “ฮับ” เมล็ดพันธุ์ระดับโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร พร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ครั้งที่ 27 เตรียมโชว์ผลงานส่งเสริมการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง  ตอกย้ำนโยบายรัฐบาลผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์   ชงเป็นเวทีสร้างความเชื่อมั่นพร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าเมล็ดพันธุ์ระดับโลก  พร้อมจัดโต๊ะเจรจาคู่ค้าเมล็ดพันธุ์  คาดผู้เข้าร่วมงานจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั่วโลกกว่า 500 รายจาก 54 ประเทศ

       นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  งานประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ประจำปี 2565 หรือ Asian Seed Congress 2022 เป็นงานสำคัญของสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค  ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค  เป็นการจัดประชุมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของสมาคมและองค์กรเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิคที่เป็นสมาชิก  เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ในระดับภูมิภาค   และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์และการค้าขายอย่างมีประสิทธิภาพ   รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอบรมและการแบ่งปันความรู้ในระดับท้องถิ่น  ระดับภูมิภาค และระดับโลก เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

งานประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ประจำปี 2565  เป็นการประชุมครั้งที่ 27 ซึ่งจะจัดขึ้นที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ  ตั้งแต่วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565  โดยสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานประชุมเมล็ดพันธุ์ระดับชาติอย่างเป็นทางการ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการผลิตและการส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงของประเทศไทยภายใต้นโยบายศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์  (Seed Hub) เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ  และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ภาพลักษณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าเมล็ดพันธุ์ระดับโลก  และมีนโยบายการพัฒนายกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ของเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปคในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีราคายุติธรรมและเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย

ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การแสดงผลงานของประเทศไทยในการส่งเสริมการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง  โดยกรมวิชาการเกษตร และสวทช. การจัดแสดงสินค้าเมล็ดพันธุ์ของภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ  เปิดการเจรจาการค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างคู่ค้าในรูปแบบของการตั้งโต๊ะเจรจาการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนและรับทราบความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี  กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าเมล็ดพันธุ์  รวมถึงโอกาสทางธุรกิจเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก  คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั่วโลกมากกกว่า 500 ราย ครอบคลุม 54 ประเทศ ถือได้ว่าการจัดประชุมเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยซี่งเป็น ‘บ้าน’ ที่ก่อกำเนิดการประชุมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิคอีกครั้งหนึ่ง