เตือนภัยผู้ปลูกผักหน้าฝน ระวัง!!… 2 โรคร้าย “ใบจุด-เน่าเละ” ระบาด

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร เตือนภัยเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักช่วงฤดูฝนเฝ้า ให้ระวัง 2 โรคร้ายระบาด “ใบจุด-เน่าเละ”  ระบุชนิดแรกเกิดกับ กรีนคอส  บัตเตอร์เฮด แนะก่อนปลูกให้เอาเมล็ดแช่น้ำอุ่น 20-25 นาที ส่วนโรคเน่าเละจะเกิดกับพืชตระกูลกะหล่ำปลี ทั้งกะหล่ำดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว  ผักกาดหัว สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช

นายศรุต  สุทธิอารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรปลูกผักเฝ้าระวัง โรคใบจุดหรือใบจุดตากบ สาเหตุจากเชื้อรา Cercosporalactucae-sativae ทำลายผลผลิตผักสลัดทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะผักที่มีใบกว้าง เช่น กรีนคอส  บัตเตอร์เฮด  โดยเริ่มแรกแผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน ต่อมาแผลขยายใหญ่มีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น กลางแผลมีสีเทาหรือสีขาว ขอบแผลมีสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายตากบ แผลมีหลายขนาดตั้งแต่จุดเล็กถึงจุดใหญ่ ขนาด 1-10 มิลลิเมตร เกิดกระจายทั่วใบ ถ้าอาการรุนแรงแผลจะลามขยายติดกันทำให้ใบไหม้ หากเกิดกับใบอ่อนอาจทำให้เกิดอาการใบหงิกงอ

วิธีการป้องกันกำจัด ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด โดยแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-25นาที  และก่อนการปลูกควรไถพรวนดินลึก ๆ ทิ้งไว้อย่างน้อย 30วัน เพื่อให้เศษซากพืชและวัชพืชย่อยสลายจัดการแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดีควรมีอากาศถ่ายเทหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอเมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เบโนมิล 50% WP อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80%WP อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  กรณีถ้าพบโรคระบาดรุนแรงให้ปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 3ปี

     นอกจากนี้ ผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลีผักกาดขาว  ผักกาดหัว  อาจถูกการทำลายจากโรคเน่าเละ  โดยอาการเริ่มแรก แผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็ก ๆ  บนใบหรือบริเวณลำต้น ต่อมาแผลจะขยายลุกลามมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อพืชบริเวณแผลจะยุบตัวลง มีเมือกเยิ้มออกมา และมีกลิ่นเหม็นเฉพาะของโรคนี้ หลังจากนั้นพืชจะเน่ายุบตายไปทั้งต้น  โรคนี้พบระบาดมากในฤดูฝน เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืชทั้งที่อยู่ในแปลงปลูกและในโรงเก็บ

การป้องกันกำจัด ให้เลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดีก่อนปลูกพืชควรไถพรวนดินให้ลึกมากกว่า 20 เซนติเมตรจากผิวดิน และตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก  ไม่ควรปลูกพืชแน่นเกินไปเพื่อไม่ให้มีความชื้นสูงเป็นการลดการระบาดของโรค   และระมัดระวังไม่ให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชเกิดแผลซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช     พร้อมกับควรดูแลไม่ให้พืชขาดธาตุแคลเซียมและโบรอน  เพราะจะทำให้พืชเกิดแผลจากอาการปลายใบไหม้และไส้กลวง ทำให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายได้ง่าย  หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก  ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค  นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยวควรไถกลบเศษพืชผักทันที และตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วไถกลบอีกครั้งเพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค  ในแปลงที่มีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เป็นต้น