กระทรวงเกษตรฯ เปิดแนวรุกใหม่เดินหน้าโครงการ “เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง” หลังพบคนไทยอยู่ในสังคมเมืองมากกว่าชนบท หวังให้คนชุมชนเมืองมีการผลิตอาหารได้เอง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด19 และยุค Next normal ขณะที่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ยังฝันหวานดันไทยฮับออร์แกนิคอาเซียน พร้อมโชว์ผลงานขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไปแล้วกว่า 1.5 ล้านไร่และเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง จาก Post Covid-19 สู่ Next Normal” ในงานสัมมนาเกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting ซึ่งจัดโดยสำนักงานสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ถึง 6 ประเด็นสำคัญด้วยกันประกอบด้วย
1. กล่าวถึง 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการเกษตรของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,2. ตัวอย่างโครงการและนโยบายในหลายประเทศ แนวทางการพัฒนาเมืองสีเขียวเมืองน่าอยู่,3.โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง,4. พูดถึง 5 สาขาเกษตรกรรมยั่งยืน,5. โครงสร้างการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,และ 6.แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2566-2570
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเล็งเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง เนื่องจากในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization)และชุมชนเมืองมีการผลิตอาหารได้เองไม่ถึง10% เป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง(Urban Agriculture )
โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด19 และยุคต่อไป(Next normal) เป็นการพัฒนาเกษตรในเมืองควบคู่กับเกษตรในชนบทจึงได้จัดตั้งและเดินหน้าโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองมอบหมายตนเป็นประธานบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่
1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน 6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change) ของโลกรวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565”
ทั้งนี้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2560 – 2564) มีโครงการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสิ้น 342 โครงการ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย รวมถึงมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี
ปรากฏว่าในปี 2564 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (ภาครัฐและภาคเอกชน) อยู่ที่ 1.51 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และกระทรวงเกษตรฯ.กำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย ประเด็นการพัฒนา ได้แก่ 1) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ 3) ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ 4) พัฒนาการตลาด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ ประกอบด้วย แผนการส่งเสริม วิจัย พัฒนานวัตกรรม ฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รวม 48 โครงการ งบประมาณ 176.83 ล้านบาท พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ รวม 21 โครงการ งบประมาณ 552.00 ล้านบาท และพัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวม 25 โครงการ งบประมาณ 122.27 ล้านบาท
สำหรับการสัมมนาเกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง ภายหลังสถานการณ์ covid -19 สู่ความปกติถัดไป (Next Normal) ผ่านออนไลน์ในครั้ง มีวิทยาร่วมให้ความรู้ ได้แก่ นางสาวไปรยา เศวตจินดา กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส บรรยายเรื่อง “เกษตรอินทรีย์ในเมืองกรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา” รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อํานวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “กินอย่างไรไกลโรค สู่ Next Normal” นายวีระ สรแสดง จาก Res-Q farm ฟาร์มแห่งแรงบันดาลใจ เกษตรไร้ขีดจำกัด และนายชารีย์ บุญญวินิจ จากฟาร์มลุงรีย์ เกษตรอินทรีย์ครบวงจร บรรยายเรื่อง “Success case : เกษตรกรรมยั่งยืนวิถีคนเมือง”
รวมทั้งมีการเสวนาเรื่อง “เกษตรกรรมยั่งยืนวิถีชุมชนเมืองยุค Next Normal” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายอนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้จัดการเครือข่ายธนาคารอาหารประเทศไทย นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก และกรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา จำกัด และนายชาคริต โภชะเรือง กลุ่มสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ .