กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมมีภาคีเครือข่าย วางมาตรการคุมเข้ม ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวปี 2565 ในภาคตะวันออก พร้อมกำหนดวันแรกในการตัดทุเรียนในแต่ละสายพันธุ์ เริ่มที่พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มีนาคม ตามด้วยพันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เมษายน ส่วนหมอนทองและก้านยาว วันที่ 25 เมษายน 2565 หวังสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงต้นฤดูกาลทุเรียนให้ผลผลิต มักพบปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) จากการเร่งตัดเพื่อจำหน่ายทำกำไร ส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค และเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการป้องกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่
เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
สำหรับ ปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแนวทางการบริหารจัดการทุเรียนเพื่อการส่งออกภาคตะวันออก โดยให้มีมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อน กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนแต่ละชนิดพันธุ์ คือ พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มีนาคม 2565 พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เมษายน 2565 พันธุ์หมอนทองและก้านยาว วันที่ 25 เมษายน 2565
ดังนี้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวทุเรียนสายพันธุ์ที่กำหนดก่อนวันดังกล่าว ต้องมีการตรวจวัดและมีใบรับรองความแก่โดยสมาพันธ์ทุเรียนไทยภาคตะวันออก หรือแปลงใหญ่ทุเรียน หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียนและเป็นผู้รับรองความแก่ และให้แนบใบรับรองความแก่และสำเนา GAP ที่ระบุวันที่ ปริมาณทุเรียน ล้งที่รับซื้อ ไปกับรถขนส่งทุเรียนที่ไปโรงคัดบรรจุด้วยเพื่อควบคุมการใช้ใบรับรอง GAP แบบไม่ถูกต้อง (สวมสิทธิ์) เพื่อให้สอดคล้องกับระบบ e-Phyto ของกรมวิชาการเกษตรที่ควบคุมการใช้ใบรับรอง GAP ไว้ที่ 5 ไร่ต่อตู้
นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนและเกษตรกรให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเฝ้าระวังโรคโควิด – 19 โดยให้เอกชนมีการวางระบบป้องกันการระบาดของโรค ได้แก่ การจัดระบบการเข้า-ออกสวน การสวมแมส จุดล้างมือ/วัดอุณหภูมิ การจัดแรงงานให้เป็นไปตามมาตรการ การฉีดวัคซีนและการจัดการที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ในด้านพัฒนาคุณภาพผลผลิตยังมีการให้ความรู้เกษตรกร การจัดตั้งทีมสุ่มตรวจสอบในระดับสวน ตลอดจนให้เกษตรกรมีมาตรการควบคุมป้องกันเพลี้ยแป้งทุเรียนในสวน ซึ่งมักพบการเข้าทำลายในระยะผลเล็กทำให้ผลทุเรียนแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต หรือหากเข้าทำลายในระยะผลใหญ่จะทำให้คุณภาพผลทุเรียนลดลง ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมด้วยหน่วยงานภาคี อาทิ กรมวิชาการเกษตร สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย ผู้ประกอบการส่งออก กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนในเขตภาคตะวันออก ร่วมกันวางมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญของภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนคุณภาพ และส่งผลดีด้านการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศต่อไป