ดลมนัส กาเจ
“ทั้งด้วงแรดและด้วงสาคู จะอยู่คู่กัน ราวกับมันจะทำหน้าที่ ทำลายพืชตระกูลปาล์มแบบบูรณาการ กล่าวคือดัวด้วงแรดจะเป็นตัวที่ทำหน้าที่เจาะต้นมะพร้าว รวมถึงโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว หลังจากที่ได้กินอิ่ม จะบินออกมา ด้วงสาคูเห็นก็เข้าไปกินต่อ ตัวเมียวางไข่เป็นตัวหนอน ตัวอ่อนกินต้นจนเป็นโพลงและตายในที่สุด”
“ด้วงมะพร้าว” ทั้ง “ด้วงแรด” และ “ด้วงสาคู” ถือเป็นภัยร้ายสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลปาล์ม ทั้งปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และอินทผาลัม โดยเฉพาะสวนมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งล่าสุดพบว่าสวนมะพร้าวถูกด้วงมะพร้าวทั้งสองชนิดนี้ทำลายกว่า 8.4 หมื่นไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมใน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา ไม่เว้นแม้แต่สวนเล็ก สวนน้อย ในพื้นที่อื่นๆ อย่างในพื้นที่ อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ซึ่งเกษตรรายย่อยปลูกไม่มากนัก ก็ระบาดแทบทุกพื้นที่ ณ วินาทีนี้ด้วงแรด และด้วงงวง หรือที่รู้จักในนามด้วงสาคู ถือเป็นศัตรูตัวร้ายสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในขณะนี้
สีดำด้วงแรด สีส้มด้วงสาคู
ในช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไปพักผ่อนในสวนเล็กๆที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ซึ่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์จากบ้านแผ้วไว้บริโภคกันเองและแจกให้กับเพื่อนฝูงกว่า 100 ต้น ออกผลผลิตแล้ว พบว่าด้วงทำลายไปรวมเกือบ 20 ต้น มีการปลูกแซมกันแล้ว และล่าสุดก็ยังพบด้วงแรด ด้วงสาคูอย่างต่อเนื่อง และถือโอกาสนี้สำรวจต้นมะพร้าวน้ำหอมทุกต้น และได้ทำลายทั้งด้วงแรก ด้วงสาคูได้มากพอสมควร ล่าสุดจึงลองใช้ลูกเหม็นโรยตามยอดไปต้นละ 6-8 เม็ด และจะประเมินดูว่าจะได้ผลหรือไม่
“ด้วงแรดมะพร้าว” ในระยะตัวหนอน จะพบตามพื้นดินบริเวณกองปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ซึ่งตัวหนอนจะเจาะชอนไชกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้ยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกรนไม่เจริญเติบโต ที่สามารถพบได้ทั้งในระยะที่ต้นมะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว
ตัวโตเต็มวัน สีดำ หัวแข็งมาก จะวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด กรณีถูกทำลายมาก ใบที่เกิดใหม่จะแคระแกรน รอยแผลตรงบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคูเข้ามาวางไข่ พอลูกเป็นหนอนหรือ และลูกอ่อนจะเจาะกินไส้ต้นมะพร้าวเป็นโพลง จนเน่าและต้นมะพร้าวตายได้ในที่สุด
ลักษณะรูที่ด้วงแรดเจาะ
“ด้วงงวงมะพร้าว” หรือ ด้วงสาคู จะวางไรในรูหรือโพรงที่ด้วงแรดเจาะ แล้วเริ่มเป็นดักแด้ เป็นตัวหนอนก็จะเริ่มกินต้นมะพร้าว เรื่อยๆ บางต้นจนหมด พอตัวเต็มวัย จะมีปีกมีสีน้ำตาลดำ อกมีสีน้ำตาลและมีจุดสีดำ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีขนที่ด้านบนของงวงใกล้ส่วนปลาย ตัวหนอนมีสีเหลืองปนน้ำตาล ดักแด้เป็นปลอกทำด้วยเศษชิ้นส่วนจากพืชที่กินเป็นอาหาร
ถือเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะพืชจำพวกปาล์ม เช่น มะพร้าวหรือสาคู หรือลาน ในประเทศไทยพบมากที่ภาคใต้ ตัวหนอนจะอาศัยและกัดกินบริเวณยอดอ่อน ตัวเต็มวัยจะเกาะกินเนื้อเยื่อด้านในของลำต้นลึกจนเป็นโพรง และทำให้ต้นตาย จากนั้นจะบินออกหากินต้นมะพร้าวต้นอื่น ซึ่งในเวลากลางวัน สามารถบินได้ไกลถึง 900 เมตร พอเจอรูที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะก็จะเข้าไปกินและวางไข่ โดยตัวเมียใช้เวลาวางไข่นาน 5-8 สัปดาห์ ในปริมาณเฉลี่ยตัวละ 400 ฟอง
ทั้งด้วงแรดและด้วงสาคู จะอยู่คู่กัน ราวกับมันจะทำหน้าที่ ทำลายพืชตระกูลปาล์มแบบบูรณาการ กล่าวคือดัวด้วงแรดจะเป็นตัวที่ทำหน้าที่เจาะต้นมะพร้าว รวมถึงโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว หลังจากที่ได้กินอิ่ม จะบินออกมา ด้วงสาคูเห็นก็เข้าไปกินต่อ ตัวเมียวางไข่เป็นตัวหนอน ตัวอ่อนกินต้นจนเป็นโพลงและตายในที่สุด แล้วออกมาบินไปกินต้นอื่นอีก
ลักษณะต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายรวมถึง 2 รูปข้างล่างด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางกรมวิชาการเกษตรเคยแนะว่า หากพบการเข้าทำลายมะพร้าวหรือปาล์ม ควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ กรณีมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว หรือกองให้เป็นที่แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว ถ้าพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้งทันที
ส่วนลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย กรณีต้นมะพร้าวที่ถูกตัดแล้วยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ โดยให้ตัดทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมาวางเรียงรวมกันไว้ให้เปลือกมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้น ให้เกษตรกรเผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว
ส่วนตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่ได้การใช้ชีววิธีในการกำจัด ให้เกษตรกรใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด ซึ่งเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของด้วงแรดมะพร้าว
กรณีที่จะใช้สารเคมีในต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปีที่ยังไม่สูงมาก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว หากระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลงสารไดอะซินอน 60% อีซี หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด