ชวนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ทั้งประหยัดน้ำ ลดต้นทุน ได้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1,200 กก.

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลฯขยายผลโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือแกล้งข้าว หวังรณรงค์เกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาแบบใช้น้ำน้อย เผยสามารถประหยัดน้ำได้ร้อยละ 34 ลดต้นทุนจากไร่ละ 5,600 บาทเหลทอเพียง 3,400 บาทเท่านั้น แต่เพิ่มผลผลิตได้สูงถึงไร่ละ 1,200 กิโลกรัม

      นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมและติดตามการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2564/65 และการส่งเสริมแนวทางการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12  ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาทว่า ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 12 มีประมาณ 2.4 ล้านไร่ มีแผนปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ประมาณ 8.3 แสนไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 34 โดยใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแนวโน้มของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาคาดว่าจะมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานได้อย่างเต็มศักยภาพ

   ทางกรมชลประทาน จึงได้รณรงค์ให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย ตามโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ภายใต้โครงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โครงการชลประทานเชียงใหม่, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่, โครงการชลประทานอุบลราชธานี, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย จ.อุบลราชธานี รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทำนาแบบใช้น้ำน้อย

   ทั้งนี้เป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำในการทำนา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป ซึ่งโดยปกติจะใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบแกล้งข้าว จะใช้น้ำเพียงประมาณ 860 ลบ.ม.ต่อไร่ เท่านั้น 

     นอกจากจะลดปริมาณการใช้น้ำลงแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวลง จากไร่ละประมาณ 5,600 บาท เหลือประมาณ 3,400 บาท ที่สำคัญยังทำให้คุณภาพข้าวดีขึ้น เพิ่มปริมาณผลผลิตได้สูงกว่าไร่ละ 1,200 กิโลกรัม ได้อีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ส่งเสริมกระบวนการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต และเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 อย่างเคร่งครัด ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้