สภาเกษตรกรฯ หนุนใช้แคลเซียมคาร์บอเนตชนิดแขวนลอยปรับสภาพดิน พิสูจน์แล้วทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 30 %

  •  
  •  
  •  
  •  

สภาเกษตรกรฯ สนับสนุนเกษตรกรใช้นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดแขวนลอย หลังจากร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิอุษรินทร์ พบว่าผลทดลองใช้ในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ทำให้เพิ่มผลผลิตได้จริงถึง 30 % ลดต้นทุนการผลิต ใช้สะดวกประหยัดแรงงานหลายเท่าตัว

    นายเติมศักดิ์  บุญชื่น ประธานคณะทำงานด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ  และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวภายหลังร่วมงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาว่า  สภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลปัญหา ความต้องการ แนวทางการพัฒนาพืชหลักของเกษตรกรในจังหวัด พบว่าเกษตรกรทำเกษตรกรรมโดยใช้ความรู้ดั้งเดิม ขาดการศึกษาถึงปัญหาที่แท้จริงที่ส่งผลต่อผลผลิตและเมื่อผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็จะปรับเปลี่ยนโดยการเพิ่มปุ๋ยหรือสารเคมีเพื่อบำรุง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะขาดการศึกษาถึงสาเหตุและการแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ นั่นคือ ดิน สภาพดินที่มีความเป็นกรดจากการที่ใช้สารเคมีที่มากเกินไป 

    ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) และมูลนิธิอุษรินทร์ โดย นายศศิศ  มนต์เสรีนุสรณ์ สนับสนุน ทำการศึกษาวิจัย และทดลองพื้นที่การเกษตรด้วยนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ชนิดแขวนลอย ในแปลงเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และ นครราชสีมา ผลที่ได้เปอร์เซ็นต์ในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกษตรกรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 18 – 28% ภายใต้การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรปกติเหมือนเดิมทุกประการ

    นายเติมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แคลเซียมคาร์บอเนตที่เป็นเทคโนโลยีนาโน ชนิดแขวนลอย เป็นสารที่มีอนุภาคเป็นบวก บดในส่วนที่เป็นโมเลกุลไม่เกิน 0.5 ไมครอน โดยใช้วิธีการวัดค่าดินเป็นหลัก วิธีการ คือ ผสมน้ำฉีดพ่นที่ดิน ซึ่งจากการทดสอบแล้วเก็บข้อมูลจะตอบสนองเรื่องของผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้นกว่า โดยใช้ในปริมาณที่ไม่มาก เช่น ถ้าวัดค่าดินมี PH 5 จะใช้นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ชนิดแขวนลอย ประมาณ 5 ลิตร/ไร่ ต้นทุนการผลิตประมาณ 300 บาท/ไร่ แต่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 18 – 25% เป็นอย่างต่ำ ในบางแปลงปลูกหรือบางสายพันธุ์ของข้าวโพดอาจจะสูงถึง 30% ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ลดต้นทุนการใช้แรงงาน

     นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เช่น ไก่ไข่ ไข่จะเป็นสีแดงมากขึ้น สุกร เนื้อจะเป็นสีชมพู ซึ่งสารสีธรรมชาติจากข้าวโพดไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้บริโภค ไม่ต้องพึ่งสารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นอันตราย ผสมน้ำฉีดพ่นที่ใบ จากงานวิจัยของประเทศทางยุโรป และทางกลุ่มตะวันออกกลาง ในพืชปลูกใหม่ อาทิ อะโวคาโด ในแปลงปลูกทะเลทราย เช่น ประเทศอิสราเอล เพื่อลดการคายน้ำในสภาวะแล้ง ซึ่งจะทำให้ทนทานต่อสภาพแล้งได้ยาวนานขึ้น โดยสภาเกษตรกรฯกำลังศึกษาเพิ่มเติมอย่างมีนัยยะเรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดด้วย 

     อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรฯยังได้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เรื่องการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่การปลูกประมาณ 1,600,000 ไร่ เกิดปัญหาไวรัสใบด่างประมาณ 500,000 ไร่ 4 อำเภอหลัก ได้แก่ อำเภอโชคชัย เสิงสาง ครบุรี หนองบุญมาก ก่อนเกิดปัญหาผลิตมันสำปะหลังทั้งจังหวัดได้ปริมาณ 3.3 ตัน หลังเกิดปัญหาปริมาณ 2.7 – 2.8 ตัน จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ชนิดแขวนลอยไปทดสอบวิจัยทั้งในแปลงเกษตรกรและแปลงในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     ผลการทดลองปรากฏว่า ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ เกษตรกรเคยปลูกได้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน กลับเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 6 ตัน/ไร่/รอบ/ปี รวมทั้งผลข้างเคียง (Side effect) ที่ไปกระตุ้นให้พืชเกิดสภาพต้านทาน(resistor) สร้างสารโปรตีนขึ้น 2 ชนิด  ชนิดแรกจะเป็นตัวทำลายไวรัสใบด่างเก่งมากในเรื่องของเชื้อรา ส่วนชนิดที่ 2 จะส่งผลให้มันสำปะหลังสร้างฮอร์โมนขึ้นมาแล้วไปกระตุ้นกลิ่นที่มีอยู่ในมันสำปะหลังซึ่งแมลงไม่ชอบ ในแปลงที่ฉีดพ่นนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ชนิดแขวนลอยจะพบแมลงหวี่ขาวน้อยมาก การระบาดของโรคใบด่างก็จะลดลง 

     “ตอนนี้ประเทศไทยผลิตข้าวโพดได้ 4.7 – 4.8 ล้านตัน แต่ความต้องการอยู่ที่ 8-9 ล้านตัน ตลาดยังมีความต้องการอีกสูงมาก ขณะที่มันสําปะหลังผลิตได้ 30 ล้านตัน แต่ความต้องการอยู่ที่ 40 ล้านตัน เพราะฉะนั้นโอกาสด้านการตลาดยังมีอีกเยอะมากที่จะขยาย ต้องฝากไปยังหน่วยงานของรัฐ ให้เร่งเรื่องของการศึกษาวิจัยต่อยอดในการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆแล้วเร่งรีบสู่การถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อจะได้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งจะสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรในอนาคตต่อไป ขณะที่นโยบายภาครัฐก็จะใช้เรื่องของงบประมาณน้อยลงด้วย” นายเติมศักดิ์  กล่าว

     ด้าน น.ส.สดใส ช่างสลัก นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) ผู้ซึ่งทำการทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในแปลงพิสูจน์ชัดเจนว่า ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ใช้ปูนขาว 20 % และเพิ่มขึ้นจากที่ไม่ได้ใช้ปูนขาวเลยถึง 44 % ใช้แรงงานคนเดียวก็ทำได้ หากใช้ปูนขาวจะใช้แรงงานถึง 5 คน 

     ขณะที่นายศุภจักร บุตรก้ำพี้ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัทเนจอร์เวนเจอร์ กำกัด กล่าวว่า นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดแขวนลอย เพื่อปรับสภาพดินนั้นจะใช้ไร่ละประมาณ 5 กก.ต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 300 บาท หากใช้อย่างอื่น อาทิปูนขาวอาจใช้ถึง 500 กก.ขึ้นไปหากราคา กก.ละ 1 บาท เท่ากับต้นทุนไร่ละ 500 บาท คาแรงคนอื่นที่ต้องใช้มากกว่าอีกต่างหาก  สรุปแล้วประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลาและแรงงาน (รายละเอียในคลิป)