นายกฯ ลุยเองประเดิมจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวนางวดใหม่ที่สุพรรณฯ เป้าหมาย 4.69 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 7.4 หมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประเดิมเปิดงานการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานปีการผลิต 2564/65 งวดใหม่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ในวงเงินจำนวน 74,569 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

      วันที่ 9 ธันวาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเป็นประธานส่งมอบเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เต็มพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมงาน

      นายประภัตร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง  และ ธนาคาร ธ.ก.ส. ที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาปรับปรุงและขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ และเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ซึ่งได้รับการอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564  และคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ในวงเงินจำนวน 74,569 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือน

      สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 จะประกันราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน  ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 – 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้านบาท

     ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 51,203 ครัวเรือน วงเงิน 1,064 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect  รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ

      นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับราคาข้าวเปลือก ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ประกอบด้วย ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเหนียวอีกด้วย

       ด้านนายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า  ในส่วนของกรมการข้าวได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2565 -2567 ซึ่งถือเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ชาวนาเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับใช้เพาะปลูก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งดำเนินการบนพื้นที่ปลูกข้าว 76 จังหวัด และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว 29 แห่ง ในช่วงเดือนมกราคม 2565 – กันยายน 2567 โดยมีเป้าหมายใน ปี2565 จำนวน 5 ล้านไร่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 75,000 ตัน ปี 2566 จำนวน 10 ล้านไร่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 150,000 ตัน และปี2567 จำนวน 12 ล้านไร่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 180,000 ตัน รวมทั้งสิ้น 27 ล้านไร่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 405,000 ตัน

      ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรตามราคาโครงการประกันรายได้ คือข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 15 บาท ข้าวเจ้า กิโลกรัมละ 10 บาท ข้าวหอมปทุม กิโลกรัมละ 11 บาท และข้าวเหนียว กิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งส่วนต่างจากราคาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณค่าเมล็ดพันธุ์รวมค่าขนส่ง และมีอัตราการช่วยเหลือไร่ละ 15 กิโลกรัม รายละไม่เกิน 450 กิโลกรัม (ตามพื้นที่ปลูกแต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่) ส่งผลให้ชาวนาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองในครัวเรือนและชุมชน ตลอดจนสามารถผลิตข้าวคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด นำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 170,866 ล้านบาท และส่งออกข้าวคุณภาพได้เพิ่มขึ้น

       รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า ภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าวได้นำเสนอผลงานแอปพลิเคชันระบบที่ปรึกษาชาวนา ที่สามารถช่วยตัดสินใจในการวางแผนการปลูกข้าว การเลือกพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ดูแลและเฝ้าระวังเตือนภัยการระบาดของโรคแมลงที่สำคัญ พยากรณ์สภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ราคา ตลอดจนเชื่อมโยงตลาดกับผู้บริโภค เพื่อให้ชาวนามีรายได้และกำไรสูงสุด

       นอกจากนี้ ได้นำเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการทำนาโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เช่น การปรับระดับดินด้วยเลเซอร์ ท่อวัดระดับน้ำอัจฉริยะ โดรนสำหรับหว่านข้าวพ่นสารเคมี รถหยอดข้าวงอกติดตั้งพวงมาลัยอัตโนมัติ รถปักดำติดตั้งพวงมาลัยอัตโนมัติ โดรนสำรวจสุขภาพข้าว สถานีตรวจอากาศ และ platform ข้าว แสดงข้อมูลต่าง ๆ ในแปลงปลูกข้าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ชาวนาในพื้นที่ให้ความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดี