สวพ.3 ขอนแก่นสุดเจ๋ง พัฒนาเทคโนโลยีผลิตพืชในโรงเรือนปลูกได้ทั้งปี 9 ชนิดพืช สร้างรายได้งามให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

สวพ.3 ขอนแก่น ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพืชในโรงเรือน สามารถปลูกได้ทั้งปี ระบบปลูกพืช 9 ชนิด เหมาะสมกับพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ตอบโจทย์ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชระบาด โรคเน่าในหน้าฝน ได้ฤกษ์ปูพรมขยายผลสู่เกษตรกร นำร่อง 2 พืชคะน้าฮ่องกงสร้างรายได้กว่า 8 หมื่นบาท/โรงเรือน  ส่วนแตงกวาญี่ปุ่น มีรายได้รวมกว่า 17,000 บาท/รอบการผลิต

       ดร.นฤทัย  วรสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สวพ.3) จังหวัดขอนแก่น  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงฤดูฝนเกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชผักบางชนิดได้ เพราะมีปัญหาเรื่องโรคเน่าและแมลงศัตรูพืชระบาด ทีมนักวิจัย สวพ.3 จึงได้จัดทำโครงการวิจัยการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบโรงเรือนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  เนื่องจากการปลูกผักในโรงเรือนจะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ทั้งปี ซึ่งดำเนินการวิจัยและทดสอบตั้งแต่ปี 2562 และจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2564 นี้   โดยได้ตั้งโจทย์ในการวิจัยไว้ว่า ต้องเป็นพืชผักที่มีมูลค่า  ตลาดมีความต้องการสูง  และเป็นพืชผักชนิดที่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกอยู่แล้ว  มีศัตรูพืชเข้าทำลายค่อนข้างมากทำให้ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดในปริมาณมาก  

       ผลการวิจัยและทดสอบในครั้งนี้ทำให้ได้ต้นแบบโรงเรือนการผลิตพืชผักที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน   อัตราการให้ปุ๋ยทางระบบน้ำที่เหมาะสมต่อการผลิตผัก 9 ชนิดในระบบโรงเรือน  ได้แก่ พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกหยวก กะหล่ำปลี ผักชี มะเขือเทศเชอรี่ ผักกาดหอม แตงกวาญี่ปุ่น คะน้าฮ่องกง และแตงโมไร้เมล็ด ระบบการผลิตพืชต้นแบบทั้ง 9 ชนิดให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี และปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และสามารถแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูพืชที่สำคัญสำหรับการผลิตพืชผักในโรงเรือนของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้

       ดร.นฤทัย  กล่าว่า  ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ได้ออกแบบปรับปรุงโรงเรือนให้เหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  โดยมีนักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่นและนักวิจัยของ สวพ.3 ร่วมกันศึกษาการให้ปุ๋ยกับระบบน้ำและสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมให้ผลผลิตของพืช 9 ชนิด ก่อนจะนำผลที่ได้ไปทดสอบและปรับใช้ให้เหมาะสมในโรงเรือนต้นแบบที่ สวพ.3  ศวพ.ชัยภูมิ มุกดาหาร เลย และนครพนม

      โดยที่จังหวัดขอนแก่นศึกษาการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ การให้ปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชตั้งแต่ ต้นกล้า  ช่วงออกดอกจนถึงช่วงให้ผลผลิต  และทำการทดสอบปลูกคะน้าฮ่องกงและแตงกวาญี่ปุ่นในโรงเรือน  และอีก 4 จังหวัดที่นำเทคโนโลยีไปทดสอบเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ ได้แก่ จังหวัดเลยปลูกมะเขือเทศเชอรี่และผักสลัดในโรงเรือน มุกดาหารปลูกกระหล่ำปลีและผักชีในโรงเรือน ชัยภูมิปลูกพริกจินดาพริกหยวก  และพริกผลใหญ่ในโรงเรือน  ส่วนจังหวัดนครพนมปลูกแตงโมไร้เมล็ดในโรงเรือน

       การวิจัยการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบโรงเรือนปลูกคะน้าฮ่องกง ได้นำชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช  ได้แก่ โรคโคนเน่าจากเชื้อราใช้ชีวภัณฑ์ไตรโครเดอร์มาชนิดสด ผสมน้ำรดวัสดุปลูก  หนอนกระทู้ผัก หากเริ่มพบหนอนวัย 1-2 ให้พ่นด้วยชีวภัณฑ์บีที อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  ทุก 5 วัน หากการระบาดรุนแรงหรือพบหนอนวัย 3-4 ให้พ่นด้วยไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงชนิดผง อัตรา 1 กระป๋องต่อน้ำ 20 ลิตร  ร่วมกับการปล่อยมวนพิฆาต และใช้วิธีกล  ส่วนเพลี้ยไฟ หากพบการระบาดให้พ่นด้วยนมสเตอริไลส์รสจืด อัตรา 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ พ่นให้ทั่วทั้งต้นจนต้นเปียก ทุก 5 วัน จนกว่าจะไม่พบการทำลาย

       การผลิตคะน้าฮ่องกงในโรงเรือนช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิในโรงเรือนค่อนข้างร้อน จึงเก็บผลผลิตได้เฉพาะส่วนยอด  ส่วนช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งยอดและแขนง และมีต้นทุนค่าวัสดุปลูกลดลง เนื่องจากสามารถใช้วัสดุปลูกเดิมและเติมวัสดุปลูกใหม่เพียงบางส่วน  ผลผลิตที่ได้จากการปลูก 2 ครั้ง จำนวน 220 กิโลกรัมต่อโรงเรือน โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 14,676 บาทต่อโรงเรือน มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 20,290 บาทต่อโรงเรือนต่อรอบการผลิต ดังนั้นถ้ามีการปลูกคะน้าฮ่องกงในโรงเรือนขนาด 6 x 24 เมตร จำนวน 4 ครั้งต่อปี จะมีรายได้สุทธิประมาณ 81,160 บาทต่อโรงเรือน  ส่วนการผลิตแตงกวาญี่ปุ่นในโรงเรือนขนาด 6 X24 เมตร รูปแบบสองชั้น มีต้นทุนการผลิต 9,826 บาท โดยต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่เป็นระบบน้ำหยดและวัสดุปลูก ได้ผลผลิตจำนวน 401 กิโลกรัม มีรายได้รวม 17,866 บาทต่อรอบการผลิต

       “ถ้ามีโรงเรือนแต่เกษตรกรไม่ทราบเทคโนโลยีการบริหารจัดการข้างในโรงเรือนก็จะทำให้การปลูกผักในโรงเรือนไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเกษตรกรนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยอย่างครบถ้วนนี้ไปปรับใช้ในโรงเรือนนอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตสูง มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้วยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุ้มทุนในระยะเวลาที่เร็วขึ้นเพราะสามารถผลิตได้ตลอดปี  โดยขณะนี้ สวพ.3 ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร“การผลิตพืชปลอดภัยในระบบโรงเรือน”เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และอุดรธานี ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ภายในโรงเรือนของตนเอง เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีการผลิตพืชปลอดภัยในระบบโรงเรือน  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สวพ.3 จ.ขอนแก่น  โทรศัพท์ 043-203500 ต่อ 292  ดร.นฤทัย กล่าว