กรมส่งเสริมการเกษตร หนุน 3 โครงการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร รับมือน้ำน้อยในฤดูแล้งหน้า 

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร งัดแผนเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร ด้วยการส่งเสริมปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 หนุน 3 โครงการ “ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา-เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร-พัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต” เพื่อรับมือปริมาณน้ำน้อยในฤดูแล้งหน้า 

      นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศใช้แผนฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว  กำหนดแผนพื้นที่การเพาะปลูก ทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่  เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่

     สำหรับการกำหนดแผนดังกล่าว ได้วิเคราะห์จากปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ และกำกับติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของเกษตรกรให้เป็นไปตามแผนควบคุมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำหนดไว้ เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องงดจัดสรรน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในบางพื้นที่ และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ  ของภาครัฐต่อไป

      นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 และรองรับการทำการเกษตรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

       1.โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา  เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความตระหนักการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และมีความรู้ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ผู้ขับเคลื่อนโครงการจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง สามารถแนะนำถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร โดยมีการถ่ายทอดความรู้หลักสูตรการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในพื้นที่ดำเนินการให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 50 แห่งๆ ละ 50 ราย รวม 2,500 ราย

      2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จะเน้นส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จำนวน 2,000 ราย ผ่านการอบรมโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ และจัดทำแปลงเรียนรู้ 194 แปลง พื้นที่ 582 ไร่ ใน 36 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสระบุรี ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัยอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี

       ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ โดยในทุกระยะการผลิต จะมีนักส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำตลอดโครงการ รวมทั้งจะมีการจัดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ทั้ง 3 ภูมิภาค ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของข้าวโพด คือ เขตภาคเหนือ เขตภาคอีสาน และเขตภาคกลาง ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าพืชไร่

     3.โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง มีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ เกษตรกร 6,572 ราย พื้นที่ 6,572 ไร่ 18 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร  เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี แพร่ และจังหวัดตาก ภาคกลาง 3  จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สระบุรี และกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร และจังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา

     ทั้งนี้จะดำเนินการจัดเวทีเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลาย ประชุมเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิต และสนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลายทดแทนการทำนาปรัง ตั้งแต่กระบวนผลิตจนถึงการจำหน่าย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายน ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มจัดทำแปลงเรียนรู้ ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรพื้นที่การเพาะปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรัง ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากจุดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่นาปรัง

       อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า  กรมส่งเสริมการเกษตรหวังให้โครงการเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถบริหารจัดการพื้นที่เกษตรของตนเองในช่วงการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ในแต่ละโครงการจะมีรายละเอียด ข้อดี และความเหมาะสมกับพื้นที่ที่แตกต่างกัน เกษตรกรที่สนใจสามารถศึกษาและทำความเข้าใจ โดยสอบถามข้อมูลการเข้าร่วมโครงการและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

*