กรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า ในช่วงที่มีฝนตกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่แบบนี้ จึงแนะเกษตรกรผู้ปลูกมันเทศเฝ้าระวังการเข้าทำลายของด้วงงวงมันเทศ ที่สามารถพบได้ในระยะเริ่มลงหัวของต้นมันเทศ เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเข้าทำลายทุกส่วนของพืช ในขณะที่ตัวหนอนจะเข้าทำลายที่บริเวณหัวและเถา
สำหรับหัวมันเทศที่ถูกด้วงงวงมันเทศเข้าทำลายจะมีลักษณะเป็นทางคดเคี้ยวสีเขียวและสีดำ ส่วนหัวมันเทศที่ถูกด้วงงวงมันเทศเข้าทำลายเพียงเล็กน้อยจะไม่สามารถรับประทานได้ เพราะหัวมันเทศที่มีรอยทำลายจะมีกลิ่นเหม็นและมีรสขม กรณีที่หัวมันเทศถูกทำลายรุนแรง หัวมันเทศจะเน่าและมีกลิ่นเหม็น
แนวทางในการป้องกันและกำจัดด้วงงวงมันเทศ เกษตรกรควรรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยสารฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสารคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% จี อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสารไดโนทีฟูแรน 1% จี อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสารคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์/ไอโซโปรคาร์บ 3%/3% จีอาร์ อัตรา 2.8 กิโลกรัมต่อไร่ และให้โรยบริเวณรอบโคนต้นทุก 1 เดือน
จากนั้น ก่อนปลูก ให้เกษตรกรแช่เถามันเทศด้วยสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 5 นาที อีกทั้งควรเลือกใช้เถามันเทศที่สมบูรณ์แข็งแรง หลีกเลี่ยง การนำเถามันเทศจากแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศมาปลูก และการปลูกมันเทศในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ รวมถึงไม่ควรปลูกมันเทศซ้ำที่เดิม ให้ปลูกพืชต่างตระกูลกับมันเทศหมุนเวียนเพื่อลดการระบาด
กรณีที่ปลูกมันเทศในสภาพมันสวน เมื่อต้นมันเทศอายุ 1 เดือน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นที่โคนต้นและเถาด้วยอัตราน้ำ 160 ลิตรต่อไร่ทุกสัปดาห์ จากนั้น เมื่อมันเทศมีอายุได้ 60 วันหลังปลูก ให้เกษตรกรใช้ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีมา คาร์โปแคปซี อัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตรต่อ 267 ตารางเมตร พ่นหรือราดลงดินในแปลงปลูกมันเทศ และใช้ติดต่อกันทุก 15-20 วัน รวม 3-4 ครั้ง
โดยเกษตรกรควรพ่นไส้เดือนฝอยตอนเย็นหลังเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์ ส่วนในกรณีที่มีอากาศแห้งแล้งควรพ่นน้ำให้ความชุ่มชื้นก่อน อีกทั้งเกษตรกรควรหมั่นรักษาความสะอาด และกำจัดวัชพืชที่เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับมันเทศในบริเวณรอบแปลงปลูกมันเทศออกให้หมด