กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ชุดใหม่ 12 ตำแหน่ง เปิดรับสมัครครอบคลุมทุกภาคส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมดเขตวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 นี้ เผยผลงานเด่นคณะกรรมการชุดที่ผ่านมา จดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี และกำหนดชนิดพืชพันธุ์พืชใหม่ขอรับความคุ้มครองได้ 7 รายการ
นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในทุก 2 ปีสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร จะมีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้มีพันธุ์พืชใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม พร้อมกับส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเกษตรกรรมตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และพัฒนา การใช้ประโยชน์พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีจำนวนทั้งสิ้น 23 คน ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้จากการสรรหาอีก 12 คน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้แทนจากเกษตรกรรวม 6 คน (ภูมิภาคละ 1 คน) นักวิชาการด้านปรับปรุงพันธุ์พืชจากสถาบันการศึกษา 1 คน นักวิชาการด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากสถาบันการศึกษา 1 คน ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร 1 คน ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 1 คน ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช 1 คน และ ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืช 1 คน
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีหน้าที่เสนอแนะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ วางระเบียบเกี่ยวกับการศึกษา ทดลอง วิจัยและปรับปรุงหรือพัฒนาพันธุ์พืช การบริหารกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช พิจารณากำหนดชนิดพืชที่พันธุ์พืชใหม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ โดยหากนักปรับปรุงพันธุ์ปรับปรุงจนได้พันธุ์ใหม่สามารถนำมายื่นจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ได้
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชชุดที่ 6 ได้จดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี ของชุมชนมะปรางพันธุ์หวานทองประมูลนครนายก และพิจารณากำหนดชนิดพืชที่พันธุ์พืชใหม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้จำนวน 7 รายการได้แก่ ถั่วลิสง กะเพรา บัวบก โกโก้ลูกผสม กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมและลูกผสม หอมแดง พืชสกุลแคนนาบิส รวมทั้งจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชว่าด้วยการบริหารกองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2564
“กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปีและจะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ กรมวิชาการเกษตรจึงขอเชิญผู้ที่มีสิทธิ์เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละกลุ่มเพื่อเสนอเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในชุดที่ 7 โดยขอรับแบบเสนอชื่อและแบบประวัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 และสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช โทร. 0 2940 7214, 0 2940 7421 หรือ ตรวจสอบข้อมูลได้ในเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว