สรุปพื้นที่การเกษตรท่วมกว่า 5 ล้านไร่ นาข้าวหนักสุด “เฉลิมชัย”ส่งเร่งช่วยเหลือด่วน

  •  
  •  
  •  
  •  

“เฉลิมชัย” สั่งกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากน้ำท่วมด่วน เพื่อเยี่ยวยาทั้งเร่งด่วน และชดเชยตามระเบียบเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางการเกษตรกรกรณีฉุกเฉินฯ ล่าสุดพบพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วกว่า 5 ล้านไร่ ใน 43 จังหวัด นาข้าวหนักสุด 3,406,999 ไร่

      ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับมีพายุพัดเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งลงสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ได้รับการเยียวยาทันท่วงที ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

    ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการสำรวจ ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว จำนวน 5,192,164 ไร่ ใน 43 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ลพบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ระยอง และจังหวัดสระแก้ว

     แบ่งเป็น ข้าว จำนวน 3,406,999 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 1,752,089 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 33,076 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 411,508 ราย และขณะนี้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินรวมแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 อย่างโดยเร็ว

      สำหรับการดำเนินการเยียวยาในเบื้องต้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จากโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการแจกเมล็ดพันธุ์ดีแล้วจำนวน 30,000 ซอง รวมทั้งการดูแลรักษาและการจัดการความชื้นในฤดูฝน การจัดการพื้นที่และการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก การฟื้นฟูพืชหลังน้ำลด และการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยได้เตรียมหัวเชื้อไตรโคเดอร์ม่า เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เกษตรภายหลังน้ำลดไว้รองรับแล้ว