“มหิดล”ปลื้มโครงการรักษ์เกษตรฯที่ร่วมกับจังหวัดน่าน-ซินเจนทา ไปได้สวย สร้างมาตรฐานเกษตรปลอดภัยจากสวนสู่จาน จ่อขยายสู่จังหวัดอื่น

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยมหิดล สุดปลื้ม หลังจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนจังหวัดน่าน และซินเจนทา โครงการ “รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม” สร้างมาตรฐานความปลอดภัยการใช้สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชภาคเกษตรกรรมมา 3 ปี ผลสรุปประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม และได้รับการตอบรับดีเยี่ยม เตรียมจ่อขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้ผลผลิตปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP 

      รศ.ดร.สรา อาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการ รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อมภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ “รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม” มา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564ได้ดำเนินงานร่วมกันในหลายภาคส่วนจากเครือข่ายชุมชนจังหวัดน่าน และบริษัท ซินเจนทา จำกัด

                                              รศ.ดร.สรา อาภรณ์

   ผลการดำเนินงาน ทำให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่าน กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดน่านสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดน่านรวมทั้ง สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และวิทยากรมืออาชีพ ให้ความรู้ สนับสนุนการทำงาน และติดตามผลการทำงานของเกษตรกรเรื่องความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการเพาะปลูกปลอดภัยแบบ GAP

       หัวใจของความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้ คือ 1) การเข้าไปสำรวจ ศึกษาและทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ในเบื้องต้น เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเกษตรกรโดยองค์รวม หลังจากนั้น

     2) ได้ออกแบบแนวทางการให้ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น นวัตกรรมเรียนรู้แบบใหม่ หรือ Innovative Education ครอบคลุมเนื้อหา พิษวิทยา การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. การฉีดพ่นสารเคมี หรือ five golden rules การดูแลสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางการขยายเครือข่ายการทำงานและส่งต่อความรู้ แล้วจึง

      3) นำมาถ่ายทอดให้กลุ่มผู้นำทั้งเกษตรกร ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องใน15 อำเภอของจังหวัดน่าน และ 4) ผู้นำเกษตรกรถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้และแนวทางการปฏิบัติไปยังเกษตรกรในแต่ละครัวเรือนได้ต่อไป

หลักปฏิบัติการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. หรือ five golden rules เป็นองค์ความรู้จากบริษัท ซินเจนทาฯ ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรเกิดการจดจำและนำไปปฏิบัติได้ง่าย ประกอบด้วย 1) ชัวร์ อ่านและทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ 2) ใช้ สารฯ ด้วยความระมัดระวังในทุกขั้นตอน  3) เช็ก ดูแลอุปกรณ์และเครื่องพ่นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 4) ชุด สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่เหมาะสมและถูกต้อง 5) ชำระ ปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยดีอยู่เสมอ

นางสาวกุนณัทฐา ศรีม่วง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดน่าน กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจหลักของสำนักงานฯ ที่ว่า เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองแรงงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างเป็นมาตรฐานและสร้างสันติสุขในวงการแรงงาน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ประสานงานและติดตามการทำงานของกลุ่มเกษตรกรอย่างใกล้ชิดร่วมกับเครือข่ายในจังหวัดน่าน ทั้งการนัดหมายแต่ละพื้นที่ล่วงหน้า จัดอบรมให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติ และติดตามผล เพื่อสังเกตผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต”

ขณะที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่  นายเสกสถิต ทารินทร์ กำนันตำบลม่วงตึ๊ด กล่าวสนับสนุนเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ คิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติถูกต้องแล้ว เมื่อได้รับฟังและการสาธิตจากอาจารย์ ทำให้ทราบว่า สิ่งที่ปฏิบัตินั้นยังไม่ถูกต้องและไม่เพียงพอ อาทิ การสวมรองเท้าบูทที่ถูกต้องต้องเมื่อจะพ่นสารเคมีคือต้องเอาเอาขากางเกงอยู่ด้านนอกรองเท้า หรือ การเลือกใช้หัวฉีดพ่นให้ถูกต้องกับสารเคมีแต่ละประเภทเป็นสิ่งจำเป็น

     ทั้งนี้ อาจารย์ได้ถ่ายทอดทั้งความรู้ เทคนิค และเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ทุกคนจดจำและนำกลับไปดำเนินการต่อได้อย่างปลอดภัย ปัจจุบัน ทุกตำบลใน 15 อำเภอของจังหวัดน่านได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว และมีการขยายผลสร้างเครือข่ายวิทยากรมืออาชีพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

      อย่างไรก็ตาม  รศ.ดร.สรา อาภรณ์ สรุปภาพรวมของโครงการในตอนท้ายว่า  ประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้มีเครือข่าย อาสาสมัคร วิทยากรรวมเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ทำให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม

     ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผลผลิตจากสวนหรือฟาร์มต่าง ๆ สู่จานอาหารผู้บริโภคมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพราะด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกเรื่องมีความเสี่ยง การที่เราอยู่กับความเสี่ยง ย่อมต้องรู้ธรรมชาติและเท่าทันความเสี่ยงนั้นดังนั้น การใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและใช้อย่างปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร นำไปสู่ความปลอดภัยทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด