ชูต้นแบบ “1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” จ้างพี่เลี้ยงคนในตำบลแห่งแรกในไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ชูความสำเร็จต้นแบบโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีการจ้างพี่เลี้ยงจากคนในตำบลเดียวแห่งแรกในประเทศไทย ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ในการดูแลซึ่งกันและกัน พร้อมชูตัวอย่างแปลงเกษตร “มายด์ฟาร์ม @ บ้านดงยาง” ที่มีความโดดเด่นในการวางแผน จัดการฟาร์มทุกกระบวนการอย่างมีเหตุมีผล

     นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ แปลงเกษตร มายด์ฟาร์ม ณ บ้านดงยาง ตำบลโนนห้อม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ว่า จังหวัดปราจีนบุรี มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการ 273 ราย มีการจ้างงานเกษตรกร 130 ราย ในพื้นที่ 5 อำเภอ 29 ตำบล

สำราญ สาราบรรณ์

    สำหรับโดยความคืบหน้าของโครงการในขณะนี้ มีการขุดสระเก็บกักน้ำเสร็จแล้ว 215 ราย คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 และอยู่ในระหว่างขุด 60 ราย โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีนั้น นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการล้วนมีความศรัทธาและสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการ สภาพพื้นที่มีความเหมาะสม ดินดี ขุดสระได้ เก็บน้ำอยู่ น้ำดี มีต้นทุนการเกษตร

    นอกจากนั้น โครงการนี้ยังเป็นโครงการแรกของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีการจ้างพี่เลี้ยงจากคนในตำบล ซึ่งทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ในการดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นตัวแทนในประชาสัมพันธ์ข่าวสารการเกษตรในตำบลตนเอง

     ทั้งนี้ จังหวัดปราจีนบุรี ได้คัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อม สู่แปลงระดับตำบล ในพื้นที่ 5 อำเภอ 29 ตำบล เป็นจำนวน 87 ราย และแปลงต้นแบบระดับจังหวัด 1 ราย ได้แก่ แปลงเกษตร มายด์ฟาร์ม @ บ้านดงยาง ซึ่งมีความโดดเด่นในการวางแผนจัดการฟาร์มทุกกระบวนการอย่างมีเหตุมีผล ตั้งแต่การออกแบบและการวางแผนผังแปลงของพื้นที่ร่วมโครงการ การวางระบบการพัฒนาดิน แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางผังแปลงเพื่อการทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ประมง และปศุสัตว์ และการวางแผนผังปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ตามหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

     รวมทั้งการนำตัวอย่างจากโครงการพระราชดำริเกษตรกรรม ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาแบบบูรณาการและโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ มาประยุกต์ พัฒนา และจำลอง (ขนาดจิ๋ว) เพื่อใช้จริง โดยเฉพาะการจัดการน้ำโดยหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในพื้นที่ของแปลง 4 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

    ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร

     โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ซึ่งขณะนี้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ดำเนินงานรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และปรากฏผลสำเร็จในพื้นที่เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ