ทรงพล พูลสวัสดิ์
สภาเกษตรกรฯ วอนรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้เกษตรกรท้ายน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพ พร้อมชงวิธีบริหารจัดการน้ำ เน้นให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานและอยู่ปลานยน้ำทำนาก่อน
นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2564 ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้พิจารณาหามาตรการช่วยเหลือและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรปลายน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เหตุจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดอ่างทองรวมถึงหลายพื้นที่จังหวัดภาคกลาง อาทิ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และมีที่ดินทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่ทางน้ำชลประทานบริเวณปลายน้ำได้รับผลกระทบจากสภาวะภัยแล้งเข้าร้องเรียนยังสภาเกษตรกรจังหวัด
กอปรกับน้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณลดน้อยลง กรมชลประทานไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีรายได้และไม่ได้รับสิทธิตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดความมั่นคงทางอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดี
ดังนั้นสภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง 26 จังหวัด ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2564 เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว และมีมติเห็นชอบเสนอปัญหาดังกล่าวในการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ
“ ทุกคนคิดว่าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำชลประทาน100% มีทั้งปี แต่ 3-4 ปีมาแล้วฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำในเขื่อนมีน้อย คนที่อยู่ต้นทางน้ำจะได้ใช้น้ำทั้งปี คนที่อยู่ปลายคลองหรือพื้นที่ไกลๆปลายน้ำก็จะไม่ได้ใช้ กลายเป็นว่าชลประทาน100% แต่น้ำไม่มีไปถึงการเกษตรปลายนา เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถทำนาได้ รายได้ไม่มีแถมมีหนี้สินแล้วจะเลี้ยงดูครอบครัวอย่างไร” นายทรงพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรฯจะนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาล 2 ประเด็น คือ การบริหารจัดการน้ำ วิธีการคือ พื้นที่น้ำไหลผ่าน 1 คลอง ความยาว 20 กว่ากิโลเมตร จะผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ สภาเกษตรกรจะเชิญนายอำเภอพื้นที่น้ำไหลผ่าน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชลประทาน มาหารือ ยกตัวอย่าง พื้นที่จังหวัดอ่างทองที่สภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทองได้ทำโครงการบริหารจัดการน้ำมา 2-3 ปี เมื่อชลประทานปล่อยน้ำมาต้องส่งให้ปลายน้ำใช้ก่อน 2 วัน ตามด้วยกลางน้ำ 2 วัน และต้นน้ำ 2 วัน ผลคือได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่ใช้งบประมาณ แต่ใช่ว่าจะหมดปัญหาซะทีเดียว เหตุเพราะน้ำในเขื่อนมีน้อยจึงไม่ทั่วถึงหลายพื้นที่การเกษตร จึงนำเสนอ
อีกแนวทางแก้ปัญหาคือ โครงการประกันรายได้ อยากให้ดึงกลุ่มเกษตรกรที่ไม่สามารถทำนาได้เลยทั้งปีเข้าร่วมโครงการชดเชยนี้ด้วย ทำนากี่ไร่ให้ได้รับการชดเชยตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
“ ปัญหามันเร่งด่วนระดับชาติอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันผลักดัน ความในใจคืออยากให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยทำบันทึกความตกลงเชื่อมโยงร่วมกันให้ได้ รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมเพื่อดูแลในเรื่องของกฎหมาย ทั้งหมดมาหารือกัน งานไม่สำเร็จได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งทั้งหมด ต้องร่วมมือกัน ออกกฎ ระเบียบมาใช้ร่วมกัน ” ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง กล่าวปิดท้าย