กรมวิชาการเกษตร ปรับแผนตรวจรับรองแปลงพืช GAP และเกษตรอินทรีย์ช่วงโควิด ดึงเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยตรวจประเมินระยะไกล พุ่งเป้าเกษตรกรที่สนใจและมีความพร้อมด้านเครื่องมือสื่อสาร แจ้งความต้องการขอรับการตรวจได้กับหน่วยงานในพื้นที่ ชูระบบออนไลน์ช่วยตรวจประเมินได้ผลเสมือนลงพื้นที่จริง
นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ปรับแผนการปฏิบัติงานด้านการตรวจประเมินรับรองแหล่งผลิต GAP พืชและพืชอินทรีย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรที่ยื่นขอรับรับรองแหล่งผลิตพืชซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในส่วนภูมิภาค โดยจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการตรวจประเมินระยะไกล ซึ่งเป็นการตรวจประเมินสถานที่ปฏิบัติงานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย เช่น การตรวจประเมินผ่านแอพพลิเคชั่น การบันทึกวิดีโอ การบันทึกเสียง ภาพถ่าย การสัมภาษณ์และประชุมผ่านระบบวีดีโอ เป็นต้น
ทั้งนี้ การตรวจประเมินระยะไกลหรือการตรวจผ่านระบบออนไลน์ เป็นแนวทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่สนใจและมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การสื่อสารหรือระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสามารถแสดงข้อมูลเอกสารและหลักฐานต่างๆ ให้คณะผู้ตรวจประเมินตรวจสอบได้ ซึ่งเมื่อผู้ตรวจประเมินทำความตกลงร่วมกันกับผู้ขอรับรองตรวจประเมินแล้วจะแจ้งแผนการตรวจประเมินระยะไกลล่วงหน้าให้ทราบ และจะต้องมีการทดสอบความพร้อมของระบบก่อนที่จะเริ่มตรวจประเมินระยะไกลจนมั่นใจว่าระบบเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายสามารถใช้งานได้จริง และมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดำเนินการตรวจประเมินระยะไกลในกรณีที่ไม่สามารถทวนสอบกิจกรรมบางกิจกรรมหรือทั้งหมดตามแผนการตรวจประเมินได้อย่างมีประสิทธิผล หรือระบบการเชื่อมต่อเพื่อการตรวจระยะไกลไม่มีประสิทธิภาพ มีอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมส่งผลให้การตรวจประเมินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดหัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินสามารถยุติการตรวจประเมินระยะไกลและนัดหมายการตรวจประเมินระยะไกลใหม่หรืออาจพิจารณาตรวจประเมิน ณ สถานที่ปฏิบัติงานจริงของผู้ขอรับรองแทนการตรวจประเมินระยะไกลได้
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นปัจจุบันการตรวจประเมินระยะไกลผ่านระบบออนไลน์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกการตรวจประเมินเพื่อการรับรอง ตรวจต่ออายุ และตรวจติดตาม ทวนสอบได้ ซึ่งหลังจากการตรวจประเมินระยะไกลเสร็จสิ้นตามแผนเรียบร้อยแล้วคณะผู้ตรวจประเมินจะสรุปและรายงานสิ่งที่พบจากการตรวจประเมิน หากพบข้อบกพร่องจะส่งใบรายงานข้อบกพร่อง รวมทั้งเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ผู้ขอรับรองทำการแก้ไขโดยจะต้องปฏิบัติตามเอกสารระบบคุณภาพมาตรฐานการผลิตพืช และประกาศกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง
การตรวจประเมินระยะไกลเปรียบเสมือนการลงพื้นที่ตรวจจริงแต่ผู้ตรวจประเมินจะประสานงานกับผู้ขอรับการตรวจประมินผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยสามารถแสดงให้เห็นภาพผ่านการใช้กล้อง หรือวีดีโอคอลจากสมาร์ทโฟน ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรหลายรายได้แจ้งความประสงค์ขอรับการตรวจประเมินระะยะไกลกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรทั้ง 8 เขตแล้ว ดังนั้นหากเกษตรกรรายใดที่มีความสนใจและมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต้องการให้กรมวิชาการเกษตรตรวจรับรองแปลง GAP และเกษตรอินทรีย์ผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่ สวพ.ทั้ง 8 เขตในพื้นที่ได้ทันที