หน้าฝนระวัง!!โรคเน่าเละในผักตระกูลกะหล่ำ-ผักกาด แนะวิธีป้องกันและแก้ไข

  •  
  •  
  •  
  •  

  ในช่วงที่มีฝนตกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกผักตระกูลกะหล่ำ และผักกาด อาทิ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว และผักกาดหัว ให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคเน่าเละ สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช 

    อาการเริ่มแรกจะพบบนใบหรือบริเวณลำต้นมีแผลเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ ต่อมาแผลจะขยายลุกลามเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเข้ม  ส่วนเนื้อเยื่อบริเวณแผลจะยุบตัวลง และจะมีเมือกกลิ่นเหม็นฉุนเยิ้มออกมาภายนอก จากนั้น ต้นพืชจะเน่ายุบตายไปทั้งต้น โรคเน่าเละจะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืชทั้งในสภาพแปลงปลูกและในโรงเก็บ

     สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไข เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มพบอาการของโรคเน่าเละในแปลงปลูก ให้รีบขุดต้นที่เป็นโรคและเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที หลีกเลี่ยงการทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชเกิดแผล ซึ่งแผลจะเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่าย

     รวมถึงควรดูแลไม่ให้พืชขาดธาตุแคลเซียมและโบรอน เพราะจะทำให้พืชเกิดแผลจากอาการปลายใบไหม้และไส้กลวง ทำให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายได้ง่าย อีกทั้งเกษตรกรควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้ง เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป

      หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ก่อนการปลูกพืช เกษตรกรควรไถกลบเศษพืชผักและไถพรวนพลิกหน้าดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตร ทิ้งตากแดดไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ และไถกลบพลิกหน้าดินอีกครั้ง เพื่อทำลายเชื้อสาเหตุโรคที่ติดอยู่กับเศษซากพืช และป้องกันการสะสมของเชื้อสาเหตุโรคในดิน

     กรณีที่พื้นที่เคยมีการระบาดของโรค ให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด ส่วนในฤดูปลูกถัดไป เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีการระบายน้ำที่ดี และเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน หลีกเลี่ยงการปลูกพืชแน่นจนเกินไป เพื่อไม่ให้มีความชื้นสูงสะสม และลดการระบาดของโรค