กรมชลฯแนะเกษตรกรเน้นใช้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทาน เน้นบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ ก่อนจะหมดฤดูฝน ยืนยันพร้อมช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร พร้อมประสานหลายหน่วยงานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง หลังการเก็บเกี่ยว

    ล่าสุดสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (18 ส.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,592 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,662 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 37,476  ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,223 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,527 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 13.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ

    เนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย กรมชลประทาน จึงประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริม และบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายของรัฐบาล 

     สำหรับเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว ขอความร่วมมือให้งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 ของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด พร้อมเดินหน้าเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าต่อไป

     ทั้งนี้ ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้บริหารจัดการน้ำท่าด้วยความประหยัด ประณีต และให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำก่อนจะสิ้นฤดูฝนในอีก 2 เดือนให้ได้มากที่สุดสำหรับพื้นที่ภาคใต้ ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร1460สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา