กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนระยะนี้ว่า มีอากาศร้อน และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ จึงแนะเกษตรกรชาวสวนลำไยให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคใบไหม้ สามารถพบได้ในระยะที่ต้นลำไยพัฒนาผลจนถึงในระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
อาการที่ใบ กิ่ง และยอด ใบอ่อน กิ่งอ่อน และยอดอ่อนมีอาการไหม้สีน้ำตาลเข้ม มักพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคขึ้นปกคลุม ต่อมาส่วนที่เป็นโรคจะแห้งอย่างรวดเร็ว หากโรคระบาดรุนแรง จะทำให้ใบและยอดไหม้ทั้งต้น อาการที่ผล เปลือกผลและขั้วผลมีสีน้ำตาลเข้ม ในระยะที่ผลลำไยยังแก่ไม่เต็มที่ผลจะแตกและเน่า โดยจะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคขึ้นฟูคลุมและผลจะร่วงในที่สุด
เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุกและมีความชื้นสูง หากพบต้นลำไยที่แสดงอาการของโรคใบไหม้ ให้เกษตรกรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เก็บเศษซากพืชที่ร่วงหล่น และกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที จากนั้น ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
อีกทางเลือกหนึ่งใช้สารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 68% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น และควรหยุดพ่นสารก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยอย่างน้อย 15 วัน
หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ลดการสะสมความชื้นในทรงพุ่ม และลดการสะสมของเชื้อราสาเหตุโรค ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค อีกทั้งเกษตรกรควรทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำไปกลับมาใช้ใหม่กับต้นปกติทุกครั้ง