เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง กรมส่งการเกษตรแนะ 4 สายพันธุ์ทนโรค

  •  
  •  
  •  
  •  

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

ระดมเจ้าหน้าที่ทั้งเกษตรอำเภอและจังหวัดลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับเกษตรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ชี้ผู้ที่จะขอรับความช่วยเหลือ ต้องมี 4 คุณสมบัติตามกรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด ขณะที่ผู้ผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาด จะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แนะ 4 สายพันธุ์มันสำปะหลังมีความปลอดภัยสูง “พันธุ์ระยอง 72 – เกษตรศาสตร์ 50 – ห้วยบง 60 -ระยอง 90 ” หรือใช้พันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ได้

    นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินการทำความเข้าใจกับเกษตรกรนั้น ขณะนี้สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 2 ประเภท คือ เกษตรกรผู้ขอรับความช่วยเหลือ และ เกษตรกรผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาด เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการจับคู่แปลงพันธุ์สะอาดกับเกษตรกรผู้รับท่อนพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเกิดความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกที่มีความใกล้เคียงกัน ร่นระยะเวลาการขนส่ง รวมทั้งจะได้เกษตรกรผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาดเป็นผู้นำ ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ขอรับความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี สร้างความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในชุมชน

     เกษตรกรผู้ขอรับความช่วยเหลือ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติดังนี้ 1) เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปลูกมันสำปะหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563, 2) เป็นเกษตรกรที่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงและผ่านการพิจารณารับรองจากคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด 3) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในฤดูปลูกเดียวกัน 4) เกษตรกรมีบัญชีกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งนี้เกษตรกร 1 ราย สามารถขอรับค่าชดเชยการทำลายและการสนับสนุนท่อนพันธุ์ได้แปลงละ 1 ครั้งเท่านั้น

       สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาด จะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปลูกพันธุ์ทนทานโรคใบด่าง ในพื้นที่ที่ไม่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง และห่างจากพื้นที่ที่พบการระบาดไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร โดยพันธุ์มันสำปะหลังทนทาน ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 90 นอกจากนี้สามารถใช้พันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการในการเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้น พันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ ระยอง 11 และ CMR 43-08-89

      โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ เพิ่งผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ หากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั้ง 2 ประเภท คือ เกษตรกรผู้ขอรับความช่วยเหลือ และ เกษตรกรผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาด มีคุณสมบัติดังกล่าวและสนใจเข้าร่วมโครงการ หรือมีข้อสอบถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยชุมชน โทร 02-955-1626 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดใกล้บ้านท่าน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม