กำนด 5 แผน พิชิตโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ เกษตรกรทำลายต้นที่เป็นโรคให้หมดสิ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร กำนด 5 แผน การเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง แบบครอบคลุมพื้นที่ แนะเกษตรกรทำลายต้นที่เป็นโรคให้หมดสิ้นทุกพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค และปรับมาใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค พร้อมสั่งการให้เกษตรจังหวัดเร่งลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ระบาดให้เป็นปัจจุบัน หลัง ครม. อนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่

      นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ใน 4 แสนไร่ วงเงิน 1.3 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด สร้างการรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัวตระหนักรู้ถึง ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรหมั่นสำรวจติดตามการระบาดในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

      สำหรับแผนการดำเนินงานของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ มีแผนดำเนินการ ดังนี้ 1) สร้างการรับรู้และชี้แจงโครงการให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรเป้าหมาย 2) สำรวจ/ชี้เป้าพื้นที่ระบาด ควบคู่ไปกับ รับสมัครแปลงพันธุ์สะอาด 3) ทำลายต้นเป็นโรคและชดเชยค่าทำลายให้เกษตรกร 4) สนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและโอนเงินค่าท่อนพันธุ์ให้เกษตรกรเจ้าของแปลงพันธุ์สะอาดที่เข้าร่วมโครงการ 5) ติดตามประเมินผล และดำเนินโครงการควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมาย พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507

     ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำลายต้นที่เป็นโรคให้หมดสิ้นทุกพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค และปรับมาใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค

      ในส่วนของการจัดการต้นมันสำปะหลังขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด กำชับคณะทำงานระดับตำบลลงพื้นที่สำรวจ ชี้เป้าพื้นที่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ดำเนินการบันทึกข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลและสิทธิ์ของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการรับสมัครแปลงพันธุ์สะอาดให้แล้วเสร็จภายเดือนกรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ การชดเชยการทำลาย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำลายต้นที่เป็นโรค และพักแปลงให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคม 2564 หลังจากนั้น คณะทำงานระดับตำบล/อำเภอ/จังหวัด จะดำเนินการตรวจสอบผลการทำลายว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ก่อนจะส่งผลการตรวจสอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบและตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ผ่านหลักเกณฑ์อีกครั้งก่อนส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินชดเชยค่าทำลายให้เกษตรกร

      สำหรับการสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่จะต้องทำลายต้นเป็นโรคต้องแจ้งความประสงค์ขอรับท่อนพันธุ์มันสะอาด เพื่อให้ทราบจำนวนท่อนพันธุ์สะอาดที่ต้องการ และคณะทำงานระดับตำบลจะจับคู่แปลงพันธุ์สะอาดที่ผ่านการประเมิน กับเกษตรกรผู้ขอรับท่อนพันธุ์ที่ทำลายต้นเป็นโรคและพักแปลงตามหลักเกณฑ์แล้ว เมื่อเกษตรกรจะได้รับท่อนพันธุ์สะอาดแล้ว คณะทำงานระดับตำบลจะตรวจสอบและรายงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบ เพื่อแจ้ง
ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกรเจ้าของแปลงพันธุ์สะอาดต่อไป

     อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด ทำความเข้าใจและเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 2 ประเภท คือ เกษตรกรผู้ขอรับความช่วยเหลือ และ เกษตรกรผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาด เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการจับคู่แปลงพันธุ์สะอาดกับเกษตรกรผู้ขอรับท่อนพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเกิดความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกที่มีความใกล้เคียงกัน และร่นระยะเวลาการขนส่ง รวมทั้งจะได้เกษตรกรผู้ผลิตแปลงพันธุ์สะอาดเป็นผู้นำ ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ขอรับความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี สร้างความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในชุมชน