ประพิศ จันทร์มา (กลาง)ระหว่างลงพื้นที่
กรมชลประทาน สูบ-ปรับเพิ่มการระบายน้ำช่วยเกษตรกรแล้ว หลังจากพบว่าฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เกษตรในพื้นที่ภาคกลาง ที่เริ่มทำนาปีไปแล้วประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ล่าสุดได้สูบน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสักเข้าพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดชัยนาท- สระบุรี อีกจุดหนึ่งปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯและอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ช่วยเหลือเกษตรกรแปลงใหญ่เผือกกินพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดสระบุรี
วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และนายสมยศ แสงมณี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท บริเวณจุดสูบน้ำปากคลองชัยนาท-ป่าสัก และจุดสูบน้ำคลองซอย 6 ขวา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ สำนักงานชลประทานที่ 10 เพื่อติดตามการไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่
นายประพิศ เปิดเผยว่า เนื่องจากเกิดฝนทิ้งช่วงเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เกษตรในพื้นที่ภาคกลางที่เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน จึงเข้าให้การช่วยเหลือโดยการสูบน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสัก สนับสนุนพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน และขอให้เกษตรกรติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และให้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำในพื้นที่เพียงพอ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ลงพื้นที่หารือกับผู้แทนเกษตรกรอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกเผือกหอมแปลงใหญ่ ในพื้นที่ 3 อำเภอ (อ.บ้านหมอ อ.หนองโดน และ อ.เอนพุด) จังหวัดสระบุรี ซึ่งใช้น้ำจากคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง เนื่องจากในช่วงวันที่ 3 – 26 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคกลางมีฝนตกน้อย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลง จนไม่สามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสักได้ แม้ว่าจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก วันละ 1.5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา และการประปาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 24 แห่ง รวมทั้งสิ้น 31 แห่ง ที่ใช้น้ำจากคลองดังกล่าว แต่ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงไม่เพียงพอที่จะส่งไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ส่งผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปหารือร่วมกับผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่เผือกหอม เพื่อชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับพื้นที่ดังกล่าว โดยในเบื้องต้นจะระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ประมาณวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 4 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้เพื่อให้น้ำจากอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่อำเภอวังม่วง คาดว่ามวลน้ำดังกล่าวจะเดินทางมาถึงเขื่อนพระราม 6 ในวันนี้ (27 พ.ค. 64) จากนั้นจะใช้เขื่อนพระราม 6 ทดน้ำยกระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักให้สูงขึ้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร ให้น้ำสามารถไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสักทางด้านปลายคลอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำบริเวณหน้าประตูระบายน้ำเริงราง ที่อยู่ห่างจากปลายคลองประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งในวันนี้(27 พ.ค. 64)เกษตรกรได้เริ่มสูบน้ำเข้าระบบทางคลองส่งน้ำ 23ขวาแล้ว ช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำของแปลงใหญ่เผือกหอมได้เป็นอย่างมาก
อนึ่ง กรมชลประทาน ขอให้เกษตรกรติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และให้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และจากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2564 นี้ ในพื้นที่ภาคกลางจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรได้ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป