กรมวิชาการเกษตรเตือน!! อากาศแบบนี้ ผู้ปลูกผักสลัดต้องระวัง “โรคใบจุดตากบ”

  •  
  •  
  •  
  •  

      กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนในระยะที่อากาศร้อน มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง  จึงแนะเกษตรกรผู้ปลูกผักสลัด (โดยเฉพาะผักที่มีใบกว้าง เช่น กรีนคอส บัตเตอร์เฮด) ให้เฝ้าระวังการระบาดของ “โรคใบจุดตากบ”

     โรคชนิดนี้สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการเริ่มแรกจะพบแผลเป็นจุดฉ่ำน้ำสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้นมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น กลางแผลมีสีเทาหรือสีขาว และพบเส้นใยของเชื้อราเจริญขึ้นเหนือเนื้อเยื่อของพืช ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะคล้ายตากบ แผลมีหลายขนาดตั้งแต่จุดเล็กถึงจุดใหญ่ขนาด 1-10 มิลลิเมตร และพบกระจายอยู่ทั่วใบ ถ้าอาการรุนแรง แผลจะลามขยายติดกัน ทำให้เกิดอาการใบไหม้ กรณีที่เกิดกับใบอ่อน อาจทำให้เกิดอาการใบหงิกงอได้

    สำหรับการปลูกผักสลัดในแปลงปลูก เกษตรกรควรจะทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี อากาศถ่ายเทสะดวก และควรเตรียมดินก่อนปลูก โดยไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เศษซากพืชและวัชพืชย่อยสลาย อีกทั้งควรใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือให้ฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดด้วยการแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที

    กรณีปลูกผักสลัดในระบบไฮโดรโปรนิกส์ เกษตรกรควรเตรียมพื้นโรงเรือนให้ดีด้วยการโรยหินกรวด เพื่อป้องกันน้ำขังและมีอากาศถ่ายเทสะดวก ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรทำความสะอาดโต๊ะปลูก หากเริ่มพบโรคใบจุดตากบ ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าพบโรคระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี