จีนเปิดรับออร์เดอร์ใหม่เพิ่ม”ส้มโอ-มะขาม-เงาะ” เริ่มส.ค.นี้ เฉพาะมี GAP เท่านั้น จี้ชาวสวนรีบยื่นขอรับรองด่วน

  •  
  •  
  •  
  •  

พิเชษฐ์  วิริยะพาหะ

กรมวิชาการเกษตร  แจ้งเตือนถึงเกษตรกร ต้องรีบยื่นขอรับรองแปลงตามมาตฐาน GAP เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกผลไม้ไทย  ชี้ตั้งแต่สิงหาคม 2564นี้ จีนเปิดรับออร์เดอร์ส้มโอ  มะขาม  และเงาะ จากสวนที่ได้รับรอง GAP เท่านั้น  เตือนชาวสวนอย่าให้คนอื่นสวมสิทธิ์ ระบุหากประเทศคู้ค้าพวปัญหาบ่อยครั้งอาจเลิกนำเข้าผลไม้จากไทยทั้งระบบได้ เผยล่าสุดเฉพาะจังหวัดจันทบุรีมีการยื่นขอ GAP ถึง 18,172 แปลง ในพื้นที่ กว่า 2 แสนไร่ ได้ดำเนินการครบ 100 % คาดปีหน้าจ่อเพิ่มเป้ารับรองอีก 1.5 แสนแปลง

      นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร   เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ในภาคตะวันออกเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่จะถึงนี้ จะมีผลผลิตทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแหล่งใหญ่ในภาคตะวันออกออกสู่ท้องตลาดมากที่สุดถึง 166,583 ตัน  หรือคิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ออกมาทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม 2564

      ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวน 264,464 ไร่  เป็นเนื้อที่ให้ผลผลิตจำนวน 204,535 ไร่   ซึ่งในปีนี้มีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมายื่นขอรับรองแปลงตามมาตฐาน GAP จำนวน  18,172 แปลง ในพื้นที่ 204,146 ไร่   เจ้าหน้าที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6)กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งตรวจให้การับรอง แปลง GAP ของเกษตรกรได้ครบทั้งหมด100 เปอร์เซ็นต์ตามจำนวนพื้นที่ที่มาขอยื่นรับรอง

      อย่างไรก็ตามตลอดฤดูกาลปีนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีปริมาณมากถึง 398,618 ตัน  มากกว่าปี 2563 ที่ให้ผลผลิต 380,446 ตัน  ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศจีน โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้ไปจีนรวมปริมาณทั้งสิ้น 1,623,523 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 102,717 ล้านบาท   ซึ่งทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมจากจีนและมีปริมาณการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ปริมาณ   618,783 ตัน  คิดเป็นมูลค่า 66,017 ล้านบาท

    นายพิเชษฐ์  กล่าวอีกว่า  แม้ในปีนี้เจ้าหน้าที่ สวพ.6  จะเร่งตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรเพื่อให้ทันกับฤดูกาลส่งออกจนได้รับการรับรอง GAP จนครบทั้งหมดตามจำนวนของเกษตรกรแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์  แต่ก็ได้ย้ำเตือนเกษตรกรให้ความสำคัญกับใบรับรอง GAP  เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีการสวมใช้ใบรับรอง GAP ของชาวสวนไทยทำให้เจ้าของหมายเลข GAP ที่ถูกสวมเสียหายไปด้วย   โดยเจ้าหน้าที่ของ สวพ.6 ได้แนะนำให้ชาวสวนเขียนรายละเอียดการซื้อขายและเซ็นกำกับในใบสำเนา GAP ที่ส่งให้คนซื้อทุกครั้ง

       ส่วนเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรก็ได้ตรวจสอบการใช้ใบรับรอง GAP ในการยื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืชก่อนส่งออกอย่างเข้มงวด  เนื่องจากหากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจเป็นสาเหตุให้จีนระงับการนำเข้าผลไม้จากไทยทั้งประเทศได้

    สำหรับในปี 2564 นี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP รวมจำนวนทั้งสิ้น 120,000 แปลง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายผลไม้หลักส่งออกที่จำเป็นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP ตามเงื่อนไขของประเทคู่ค้า เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่   และมะม่วง  ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศจีน โดยปัจจุบันจีนได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยรวมจำนวนทั้งสิ้น 22 ชนิด  ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท / ปี

    อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่สต่อว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้กับจีนอีก 3 ชนิด คือ มะขาม  เงาะ และส้มโอ  ซึ่งจะทำให้การส่งออกผลไม้ไปจีนจะต้องเป็นสวนที่ขึ้นทะเบียนและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้นจึงจะส่งออกไปจีนได้

     ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรในแต่ละพื้นที่ แจ้งให้เกษตรกรได้รับทราบและรีบสมัครเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP โดยเจ้าหน้าที่ของกรมจะเร่งรัดการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนสวน GAP และโรงคัดบรรจุผลไม้ GMP พืชทั้ง 3 ชนิดให้แก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออก  ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีแปลงของเกษตรกรที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP  รวมจำนวนทั้งสิ้น 230,574 แปลง คิด เป็นพื้นที่จำนวน 1,517,640 ไร่  ส่วนโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน GMP มีจำนวนทั้งสิ้น 1,841 โรงงาน

     “มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการส่งออกแต่ต้องการให้ประเทศคู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลไม้ไทย  ซึ่งคุณภาพเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถรักษาตลาดส่งออกผลไม้ของประเทศไว้ได้อย่างยั่งยืน   ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรเร่งสมัครเข้าสู่การรับรองตามมาตรฐาน GAP  ได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต  โดยกรมจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เร่งตรวจรับรองให้เกษตรกรได้รับการรับรองโดยเร็วและให้มากที่สุด  ซึ่งในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจรับรองแปลง GAP ไว้ทั้งหมด 150,000 แปลง”  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว