อากาศร้อน มีฝน ชาวสวนทุเรียนต้องระวัง !! “ไรแดงแอฟริกัน”

  •  
  •  
  •  
  •  

    ในระยะนี้จะมีอากาศร้อนและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เฝ้าระวังการระบาดของไรแดงแอฟริกัน มักพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นทุเรียนออกดอกอยู่ในระยะหางแย้จนถึงระยะติดผลอ่อน โดยจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของรแดงแอฟริกันดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่บริเวณหน้าใบ ซึ่งพบระบาดทำความเสียหายแก่ต้นทุเรียนโดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้งและลมแรง สามารถสังเกตได้ที่หน้าใบจะเห็นคราบของไรคล้ายผงหรือฝุ่นละอองสีขาวเกาะอยู่ สีของใบจะซีด ไม่เขียวเป็นมันเหมือนใบปกติ

     เกษตรกรควรหมั่นสำรวจการระบาดของไรแดงแอฟริกันในสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ หากระบาดรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลทำให้ใบทุเรียนหลุดร่วงอย่างรวดเร็ว ต้นทุเรียนจะหยุดชะงักการเจริญเติบโต และมีผลต่อการติดดอกและผลของทุเรียนได้ ประชากรไรมักหนาแน่นมากในบริเวณทรงพุ่มด้านนอกที่ถูกแสงแดด ส่วนยอด หรือด้านบนของทรงพุ่ม การแพร่ระบาดภายในสวนทุเรียนพบว่า จะเกิดการระบาดรุนแรงเป็นหย่อมๆ ทางด้านเหนือลม ด้านขอบรอบแปลง และด้านที่ติดถนน

    กรณีฝนเริ่มทิ้งช่วง อากาศแห้งแล้ง และมีลมพัดแรง เกษตรกรควรรีบสำรวจส่องดูไรแดงแอฟริกันบริเวณด้านบนใบเพสลาดและด้านหน้าใบแก่ภายในสวนทุเรียน ซึ่งสามารถเห็นไรแดงแอฟริกันได้ด้วยตาเปล่า โดยจะสามารถพบเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มวิ่งเคลื่อนไหวไปมา

    หากพบการระบาดเข้าทำลายของไรแดงแอฟริกัน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าไรที่ใช้ได้ผลในการป้องกันกำจัดไรแดงแอฟริกัน คือ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมิทราซ 20% ดับเบิ้ลยู/วี อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฮกซีไทอะซอกซ์ 2% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้พ่นทั้งต้นโดยเฉพาะบริเวณยอด และให้พ่นซ้ำ ตามความจำเป็น

      สำหรับการใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพ่นสารสลับชนิดกัน เพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร และให้ใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น