ปลุกพลังลุกขึ้นเปลี่ยน “แล้ง” ไม่ใช่แค่ “รอด”จัดการน้ำพลิกชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ที่ยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

      เพราะ “น้ำคือชีวิต” ถ้าไม่มีน้ำ คนก็อยู่ไม่ได้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะทิ้งถิ่นเกิด อพยพ สู่เมืองใหญ่ หอบหิ้วความหวังฝ่ากระแสธารแห่งการต่อสู้ที่เข้มข้น เพื่อสร้างชีวิตใหม่ที่คิดว่าดีกว่า แต่สุดท้ายอาจพบว่าบนเส้นทางในเมืองใหญ่ไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจและความสุขที่ยั่งยืน

ทิ้งถิ่นสู่เมืองใหญ่ขายแรงงานทางเลือกที่ “ไม่รอด”

    ชุมชนภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แล้งที่สุดในภาคอีสาน ฝนตกน้อยที่สุด น้ำแล้ง ปี ฝนดี ปี ทำให้ชุมชนต้องเผชิญทั้งภัยแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี ไม่สามารถทำการเกษตรได้ คนหนุ่มคนสาวต่างอพยพไปรับจ้างขายแรงงานต่างถิ่น โอกาสที่ครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันก็เฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา และออกพรรษาเท่านั้น

     “ช่วงแล้งที่สุด คนในหมู่บ้านกว่า 300 คน ต้องยืนต่อคิวอาบน้ำในบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ส่วนน้ำดื่มต้องตื่นตั้งแต่ตี ตี ไปตักน้ำในบ่อน้ำตื้นใกล้ป่าภูถ้ำ เราอยู่ไม่ได้ต้องอพยพไปรับจ้างต่างจังหวัด คิดว่าไปกรุงเทพฯ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เป็นเหมือนเมืองสวรรค์ ผมไปอยู่กรุงเทพฯ 28 วัน มันไม่ใช่สวรรค์เป็นนรก เราเป็นเหมือนเขียดที่คลุกดินทรายกำลังจะดิ้นตาย มันทรมาน ซึ่งสิ่งที่เราไปเห็นทำให้รู้ว่าบ้านเราเป็นสวรรค์” พิชาญ ทิพวงษ์ สะท้อนเรื่องราวในวันวาน

    เมื่อเมืองใหญ่ไม่ใช่ทางรอด “พิชาญ” เบนเข็มกลับสู่ชุมชนภูถ้ำ ภูกระแต มุ่งมั่นที่จะยืนหยัดใช้ชีวิตบนผืนดินถิ่นเกิด โดยลุกขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำด้วยตัวเอง ปลูกป่าสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และพยายามจัดการน้ำชุมชน พร้อมปลุกพลังชาวบ้านในชุมชนให้มาร่วมกันสู้รู้จักพึ่งพาตัวเอง แทนการรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาของชุมชน นอกเหนือจากเรื่องการขาดความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำให้ต้องเผชิญกับแล้งซ้ำซากทำการเกษตรแทบไม่ได้ และเมื่อฝนตกก็ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้เช่นกัน

จุดเปลี่ยนปลดล็อกความคิด ลุกขึ้นสู้ร่วมกันแก้ปัญหา

    พิชาญ เล่าว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดจากการส่งโครงการจัดการน้ำชุมชนของภูถ้ำ ภูกระแต เข้าประกวด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ให้เป็น “ชุมชนจัดการน้ำดีเด่น” ทำให้มีโอกาสเข้าอบรมเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สสน. รวมทั้งเอสซีจี เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน และปรับวิธีคิดและเปิดมุมมองใหม่ให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และโชคดีที่มี “โครงการเอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน สนับสนุนการเชื่อมน้ำขุดคลองเข้าพื้นที่ ขุดแก้มลิงให้เป็นแหล่งน้ำประจำไร่นา จนสามารถเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ พร้อมทั้งสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ผืนป่ากว่า 2,800 ไร่ ให้กลายเป็นป่าเขียว รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเองในชุมชนได้

     “ผมมีโอกาสได้เจอกับ ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสน. อาจารย์ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านเป็นนักร้อง เรียกร้องตรงนั้นตรงนี้ คัดค้านโครงการนั้นโครงการนี้ อาจารย์จึงทิ้งคำถามไว้ว่า หากคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีพอ แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จึงทำให้เรากลับมาคิดภายใต้โจทย์ใหญ่ของชุมชน ว่าเราจะหาทางเก็บน้ำ ปีให้ข้ามแล้ง ปีได้อย่างไร”

รู้จักจัดการน้ำ เรียนรู้ใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหารอดแล้ง 

      กรอบความคิดและการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา ชาวบ้านร่วมกันศึกษาสภาพพื้นที่ด้วยแผนที่ชุมชน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่อง GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ของตัวเอง สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หลังจากนั้นร่วมกันจัดระบบการบริหารจัดการน้ำผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น คลองดักน้ำหลาก แก้มลิงกักเก็บน้ำ คือ คลองที่เกิดจากการขุดคลองดักน้ำที่ไหลหลากจากที่สูง คล้ายการทำรางน้ำดักน้ำบนหลังคาบ้าน แล้วลำเลียงน้ำจากสูงไปต่ำเป็นสระน้ำขั้นบันได เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันไว้ในสระแก้มลิง  เป็นต้น รวมทั้งใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา

     แนวทางแก้ปัญหาเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้สู่การลงมือปฏิบัติ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิตด้วยปัญญาตามแนวพระราชดำริด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำแล้งน้ำหลากบนพื้นที่สูงลอนคลื่น โดยบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และมีการใช้น้ำซ้ำหลายรอบอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญชุมชนมีการตั้งกติกาการใช้น้ำร่วมกัน หากน้ำอยู่ในระดับวิกฤตจะลดการใช้น้ำครอบครัวละไม่เกิน 10 คิว/เดือน เพื่อที่จะรักษาปริมาณน้ำ

สร้างเศรษฐกิจด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มรายได้ที่ยั่งยืน

     ขณะเดียวกันเกษตรกรในชุมชนยังได้เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นำมาประยุกต์ใช้จัดรูปที่ดิน เพื่อให้บริหารจัดการง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีการวางแผนการผลิตใหม่ เพื่อให้ปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 4เท่า จากเดิม 30,000 – 50,000 บาท/ปี เป็น 120,000 บาท/ปี และช่วยลดรายจ่าย โดยเฉพาะค่าอาหารลดลงกว่าเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในเครือข่ายเปลี่ยนวิถีการผลิต จำนวน 68 ราย มีรายได้จากผลผลิตประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจจากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อมีความมั่นคงแล้วเกิดความยั่งยืน เพราะว่ามันสามารถส่งต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ด้วย

    “เราต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงแม้เป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้มาก่อน เมื่อมีน้ำก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผู้คนในท้องถิ่นไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นไปหางานในเมืองใหญ่ ดินบ้านเราอาจไม่ดี แต่ลองเปลี่ยนใหม่ว่า ดีแล้วที่มีดิน ดีแล้วที่มีน้ำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารจัดการสิ่งที่มีอยู่อย่างไร ให้เกิดผลสำเร็จ ผมคิดว่าบ้านเป็นฐานที่มั่นที่อบอุ่นและมีความสุขที่สุด อย่างโควิดอยู่ที่นี่ไม่อดตาย เข้าไปทุ่งนาเข้าสวนก็ได้กินแล้ว เราต้องภาคภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่ชุมชนที่ยังไม่รู้จักจัดการตัวเอง อย่ารอคนอื่นมาแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำคือชีวิต ทุกคนต้องการน้ำ เราต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อที่จะรอดแล้งด้วยการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม สร้างป่าต้นน้ำให้มีความเขียวชอุ่ม แม้ในฤดูแล้ง”พิชาญ ทิ้งท้าย