บจธ.สุดปลื้ม ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรในรอบ 5 ปี 4 โครงการตามมติ ครม. “โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน-แก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน -ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ-นำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน” เผยสามารถช่วยเกษตรกรให้มีที่กินไปแล้วกว่า 4,000 ราย ในพื้นที่ 5,090 ไร่ ล่าสุดชู 3 วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเชียงรายประสบความสำเร็จ และเตรียมต่อยอดขยายเพิ่มอีกในลักษณะเดียวกัน 12 โครงการทั่วประเทศ
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนายการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2559 – 2563) บจธ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรไปทั้งหมด 4,134 รายจำนวนเนื้อที่ประมาณ 5,090 ไร่ โดยผ่านการดำเนินงานของ บจธ. ใน 4 โครงการตามมติ ครม. คือ
1.โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มต้องจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์ และมองหาที่ดินที่ต้องการใช้ประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบแปลงรวม บจธ. จะเป็นผู้เจรจาร่วมกับกลุ่มสมาชิกจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาให้ เช่า หรือเช่าซื้อระยะยาวไม่เกิน 30 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนการจัดทำผังแปลงที่ดินตามหลักภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่ดิน และที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 9 กลุ่ม ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดลำพูน และจังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจำนวน จำนวน 480 ครัวเรือน จำนวนที่ดิน 1,744 – 1 – 63 ไร่
2.โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน บจธ. ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิไปแล้ว โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเพื่อนำไปไถ่ถอนที่ดินจากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้นอกระบบ จากการจำนอง ขายฝาก และชำระหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อคงสิทธิในที่ดิน รวมไปถึงจัดซื้อที่ดินของลูกหนี้ที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อคงสิทธิให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้กลับมามีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ดินของตนเองต่อไป และให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดระยะเวลา 5 ปี บจธ.ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 387 ราย สามารถป้องกันและคงสิทธิในที่ดินได้ถึง 2,476-0-33.7 ไร่
3.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ยากจน ที่ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และทางหลวงสายพิเศษ บางปะอิน–นครราชสีมา เป็นต้น บจธ. จะสนับสนุนสินเชื่อสำหรับจัดซื้อที่ดินให้เกษตรกร ผู้ยากจนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในรูปแบบแปลงรวมถือกรรมสิทธิ์ร่วม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ในการทำเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้ว 2 กลุ่ม พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ 53 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 103-2-51.3 ไร่
4.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน(ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน) บจธ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพในพื้นที่เป้าหมายให้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยตามรูปแบบที่ บจธ. กำหนดซึ่ง บจธ. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน จำนวน 500 ครัวเรือน โดยได้จัดซื้อที่ดินตามแผนโครงการดังกล่าว เป็นจำนวนที่ดิน 742 – 0 – 56.2 ไร่
ชู 3 วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเชียงรายประสบความสำเร็จ เตรียมต่อยอดอีก 12 โครงการ
ด้านนายเอก วรรณประทีป รองผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ว่า มีเกษตรกรรวมกลุ่ม 3 วิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย1.วิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จัดได้ว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง และสามารถบริหารจัดการที่ดินตามโครงการของ บจธ. ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชม และจะเป็นต้นแบบเพื่อขยายโครงการในลักษณะเดียวอีก 12 โครงการทั่วประเทศต่อไป
ความเป็นมาในพื้นที่บริเวณดอยอินทรีย์ ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นี้ เกิดจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นไม่มีที่ดินทำกินและได้เข้าบุกรุกเพื่อจับจองพื้นที่ทำไร่ ในเขตพื้นที่ป่าไม้ บริเวณโดยรอบดอยอินทรีย์กว่า 800 ไร่ ส่งผลให้สภาพป่าและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อีกทั้งบริเวณพื้นที่โฉนดโดยรอบเขตป่ามีนายทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการจำนวนมาก เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ของบรรพบุรษของชุมชนให้เป็นของคนในท้องถิ่นและทำกิจกรรมทางการเกษตร
ต่อมาพระอาจารย์วิบูลย์ ธฺมมเตโช จึงได้หาทางแก้ไข และขับเคลื่อนรวบรวมชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินเหล่านี้ ลงมาจากป่าทำความเข้าใจและจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงรายขึ้นมา โดยมี นายขิณรัตน์ สินสิทธิพล เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ และได้ยื่นหนังสือขอรับความช่วยเหลือด้านที่ดินทำกินมายัง บจธ. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อให้ทาง บจธ. ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเฟสแรก ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิกวิสาหกิจฯ จำนวน 28 ครอบครัว (โครงการเฟส 1) และเนื้อที่เฟสที่ 2 ประมาณ 46 ไร่ ให้กับสมาชิกจำนวน 32 ครอบครัว (โครงการเฟส 2) รวมเนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ ซึ่งจะจัดสรรที่ดินโดยแบ่งออกเป็นรายละ 1 ไร่ ให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน จะดำเนินการตามแนวทางของศาสตร์พระราชาหรือเกษตรทฤษฎีใหม่
การบริหารงานของวิสาหกิจฯ สมาชิกจะร่วมกันผ่อนชำระกับ บจธ. ในระยะเวลา 30 ปี โดยระยะการดำเนินการ 1-2 ปีแรก บจธ. ให้กลุ่มสามารถเช่าที่ดินก่อน เพื่อให้มีรายได้จากผลผลิตในแปลงที่ดินก่อน ปัจจุบัน วิสาหกิจฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่จากทุนสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการบริหารจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ของ บจธ. เพื่อใช้ในการปรับสภาพพื้นที่ การขุดลำเหมือง การขุดสระน้ำในพื้นที่ส่วนกลาง และสมาชิกทุกคนยังได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่โดยการนัดเอามื้อ (ลงแขกร่วมกัน) เพื่อร่วมในการขุดคลองไส้ไก่ในแต่ละแปลง การทำรั้ว ระบบน้ำ ถนน การสร้างบ้าน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่เข้มข้น เช่น ต้องทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงบันได 9 ขั้น ต้องรักษาศีล 5 มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ ต้องร่วมกันสวดมนต์ทุกวันพระ เป็นต้น เพื่อให้สมาชิกได้เกิดความสามัคคี มีความรัก ความซื่อสัตย์ กตัญญู และความเข้มแข็งภายในกลุ่ม โดยสมาชิกในกลุ่มใช้ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี เกษตรกรสามารถเข้าทำกินและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้
2.วิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ สมาชิกกลุ่ม 65 ครัวเรือน เนื้อที่ 68-2-54.5 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 มีแนวทางในการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ คือ รู้คิด รู้ทำ รู้พัฒนา สู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้นำกลุ่มและสมาชิกได้ร่วมกันตั้งปณิธานว่าจะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ของครอบครัว และชุมชนที่มั่งคงและยั่งยืน ปัจจุบัน มีสมาชิกส่วนใหญ่ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ตั้งใจผลิตพืชผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ เน้นรับประทานพืชเป็นยา แทนที่การรับประทานยา เพื่อให้ชุมชน และพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงรายมีสุขภาพที่ดี ปลอดโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบัน ผลผลิตที่ได้มีทั้งที่เกษตรกรนำออกไปจำหน่ายเอง และมีคนมารับซื้อถึงบ้าน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนได้เดือนละประมาณ 6,000-10,000 บาท
3.วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยนกนคร (บ้านสันต้นเปา) เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการทำเกษตร แต่เดิมนั้นเกษตรกรบ้านสันต้นเปา หมู่ที่ 6 ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และอีกหลายหมู่บ้านใกล้เคียง ขาดที่ดินทำกิน เนื่องจากที่ดินในอำเภอเชียงแสนเริ่มมีราคาแพง จนเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถที่จะซื้อที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้ เกษตรกรจึงได้มองหาหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือให้ชุมชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องเช่าที่ดินทำกินอีก เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในชุมชนได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่งคง และยั่งยืน ส่งต่อให้ลูกหลานของตนเองได้ จึงร่วมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยนกนคร (บ้านสันต้นเปา)
ทั้งนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือที่ดินทำกินจาก บจธ. วันที่ 2 มีนาคม 2563 วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนโยนกนคร มีหนังสือขอความช่วยเหลือมายัง บจธ. เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อที่ดิน ในพื้นที่ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จำนวน 50 แปลง เนื้อที่ประมาณ 416 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้สมาชิก จำนวน 100 ราย รายละประมาณ 3-5 ไร่ และบจธ. ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนโดยมีชาวบ้านสมาชิกมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน จนเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา บจธ. ได้รับโอนกรรมสิทธิที่ดินและให้สมาชิกวิสาหกิจฯ ทำสัญญาเช่า เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามความมุ่งหวังของสมาชิกกลุ่ม โดยในอนาคตจะเป็นการเช่าซื้อ พร้อมกันนี้ บจธ. ยังได้ จัดการอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้มีความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน