สยามคูโบต้า-พันธมิตร 29 องค์กรเนรมิต “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” ลดมลภาวะ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

      “ภายใต้โครงการเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่ จ.มหาสารคามนั้น ยังส่งเสริมร่วมมือและเชื่อมโยงเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ ฟางข้าว ใบอ้อย ระหว่างเกษตรกรกับตลาดในพื้นที่ อย่าง สหกรณ์โคนมที่จะรับซื้อในปี 2563 จำนวน 1.6 แสนตัน  ทางโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ACE อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รับซื้อทุกเมื่อ ทุกฤดูกาลไม่ไม่อั้น ไม่จำกัดจำนวนในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 650 บาท”   

     ในที่สุดบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรการเกษตรชั้นนำของประเทศไทย เลือกจังหวัดมหาสารคาม เป็นโมเดล ของ “โครงการเกษตรปลอดการเผา” (Zero Burn) ภายใต้แนวคิด “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” และได้เปิดตัวขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นี่เอง

      โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) เกิดมาจากปัญหามลพิษและ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5”ที่ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และมีข้อมูลระบุชัดเจนว่ากว่า 50% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน บริษัท สยามคูโบต้าฯ ซึ่งมีความมุ่งหวังในการพัฒนาเกษตรไทยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อลดภาวะมลพิษทางอากาศที่บางส่วนมาจากการเผาในที่โล่งจากภาคเกษตรกรรม จึงดำเนินโครงการ “เกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” เพื่อรณรงค์และพัฒนาการกระบวนการผลิตโดยวิธีปลอดการเผา

     ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าให้เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริม สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และนำไปใช้ในการทำการเกษตรปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็น 0 ภายในปี 2565 ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร Machinery Solutions และองค์ความรู้ด้านการเกษตร Knowledge Solutions ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร  มาปรับใช้ นำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563  ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ร่วมกับจังหวัดมหาสารคาม ต่อมาวันที่    24 กันยายน พ.ศ. 2563 ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี วันที่   27 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ

     นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 สยามคูโบต้าฯเตรียมดำเนินการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ ดส่วนแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2564 สยามคูโบต้าวางแผนขยายพื้นที่ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งจังหวัดปลอดการเผา ในพื้นที่เกษตรเป้าหมายในภาคเหนือและภาคกลางดังเช่น เชียงใหม่ พะเยา กำแพงเพชร สระแก้วและราชบุรี เพื่อสร้างให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่พร้อมนำร่องแนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ  

      ในส่วนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero burn) ในจังหวัดมหาสารคามนั้น ทางสยามคูโบต้าฯลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)  ร่วมกับ 29 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม และผู้แทนจำหน่ายคูโบต้า มหาสารคาม เพื่อผลักดันให้เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องแห่งแรกในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” โดยมีเป้าหมาย ผลักดันนโยบายการงดการเผาตอซังและฟางข้าวของภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดมหาสารคาม ตั้งเป้าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามกฎหมายกำหนด มุ่งสู่เป้าหมายในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดมหาสารคามให้เป็น 0% ภายในปี พ.ศ. 2565

       นอกจากนี้ยังส่งเสริมระบบบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ภายในพื้นที่ จ.มหาสารคามเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้กระบวนการผลิตพืชโดยวิธีปลอดการเผา พร้อมประกาศความสำเร็จของโครงการฯ  และผลักดันจังหวัดมหาสารคามให้เป็นต้นแบบนำร่องเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) อย่างเป็นรูปธรรม  สร้างแปลงตัวอย่าง ร่วมกับเกษตรกรต้นแบบ ในการส่งเสริมวิธีการทำเกษตรปลอดการเผาใน จ.มหาสารคาม

      ภายใต้โครงการเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่ จ.มหาสารคามนั้น ยังส่งเสริมร่วมมือและเชื่อมโยงเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ ฟางข้าว ใบอ้อย ระหว่างเกษตรกรกับตลาดในพื้นที่ อย่าง สหกรณ์โคนมที่จะรับซื้อในปี 2563 จำนวน 1.6 แสนตัน  ทางโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ACE อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รับซื้อทุกเมื่อ ทุกฤดูกาลไม่ไม่อั้น ไม่จำกัดจำนวนในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 650 บาท   โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แนะนำ และประสานงานร่วมกันเพื่อให้การเชื่อมโยงเกิดขึ้นได้จริง และยังสนับสนุนกิจกรรม เพื่อแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหา (โซลูชั่น) และขยายผลไปยังเกษตรกร ผ่านแปลงสาธิต โดยเลือกจากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ที่อยู่ในเขตพื้นที่การเผา โดยมีเจ้าหน้าที่จากสยามคูโบต้าเข้าไปแนะนำการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และวิธีการทำโซลูชั่นอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดการเผาได้อย่างยั่งยืน

      นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เริ่มมีปัญหา การที่บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้ร่วมมือกับภาครัฐเอกชน และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อดำเนินโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเดิมทีเกษตรกรนิยมทำการเกษตรแบบเผาไม่ว่าจะเป็นอ้อย และฟางข้าวทำให้เกิดมลภาวะ ทำลายระบบนิเวศน์ แต่โครงการนี้นอกจากลดมลภาวะแล้ว ยังก่อให้รายเพิ่มให้กับเกษตรด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม คือฟาง และใบอ้อยสามารถอัดเป็นก้อนขายได้ก้อนละ 25-30 บาท การไถกลบฟางยังเพิ่มปุ๋ยและจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ประหยัดปุ๋ยอีกด้วย

  

    ด้านนายปราโมทย์ วัฒนะ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามเป็นเมืองเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เกษตรกรจะยึดอาชีพการทำนา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวจะทำการเผาตอซัง เช่นเดียวกันกับไร่อ้อย ถึงเวลาตัดอ้อยจะประสบปัญหาด้านแรงงาน จึงเผาก่อนทำให้เกิดมลภาวะขึ้น ต้องขอขอบคุณบริษัท สยามคูโบต้า ที่มาจัดทำโครงการเกษตรปลอดการเผา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจากการรณรงค์โครงการนี้ ทำให้เกษตรกรตื่นตัวเป็นอย่างมากเนื่องจากเพิ่มรายได้ชัดเจน ตอนนี้ประมาณการว่า เกษตรเลิกการเผาทั้งฟางข้าว และข้าวโพดกว่า 50% มั่นใจว่าในปี 2565 จังหวัดมหาสารคามลดการเผา 0% แน่นอน (รายละเอียดในคลิป)

      ขณะที่นายวีรพงศ์​ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโส-แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพวง บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า  นับตั้งแต่การลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ร่วมกับจังหวัดมหาสารคามในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563  สยามคูโบต้าฯร่วมผลักดันแนวคิดและองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดการเผาแบบครบวงจร ด้วยแนวทางการดำเนินงาน “ส่งเสริมแนวคิด สนับสนุนเครื่องจักรกลและการขนส่ง รวมทั้งหาโอกาสทางธุรกิจสำหรับตลาดรับซื้อ” เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามจากการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

     โดยทางบริษัทสยามคูโบต้าฯได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา (โซลูชั่น) ในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มาช่วยจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เครื่องสางใบอ้อย เครื่องอัดฟาง ผานสับคลุกใบอ้อย เครื่องพ่นอเนกประสงค์รวมทั้งแนะนำวิธีการทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว เพื่อใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรเป็นต้น (รายละเอียดในคลิป)

     “โครงการเกษตรปลอดการเผา” (Zero Burn) ภายใต้แนวคิด “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา” ภายใต้การดำเนินการของบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดร่วมกับพันธุ์มิต 29 องค์กร นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ไม่เพียงแต่จะให้ประเทศไทยลดปัญหาหมอกควัน PM 2.5 หากแต่ยังสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย