ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เล็งปรับปรุงพันธุ์ “หอมแดง” หวังยกระดับเศรษฐกิจให้พึ่งตนเอง

  •  
  •  
  •  
  •  
“มนัญญา” เผยผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ประสบผลสำเร็จในผลงานวิจัยนปี 2563 มีทั้งไม้ผล พืชสวนครัว ผักสวนครัว ไม้ดอก  พืชสมุนไพร และพืชสวนอุตสาหกรรม ที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ในอนาคต ตั้งเป้างานวิจัยชิ้นต่อไป “หอมแดง” เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจให้พึ่งตนเอง และตัดวงจรการระบาดของโรคและลดต้นทุนการผลิตลง
      นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังกล่าวมอบนโยบายและรับฟังการบรรยายสรุปงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษว่า ผลการดำเนินงานสำคัญของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ในปี 2563 งานไม้ผล ได้แก่ มะม่วง และมะละกอ มีการปลูกคัดเลือก เปรียบเทียบพันธุ์ สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ในอนาคต
      งานวิจัยพริก และมะเขือเทศ ได้แก่ พริกและมะเขือเทศ สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ งานวิจัยไม้ดอก ได้แก่ บัวบริโภคเมล็ดสด สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพ สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ ทั้งนี้ศูนย์ฯ มีแปลงงานวิจัยพืชสวน 5 กลุ่ม ได้แก่ ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก พืชสมุนไพร และพืชสวนอุตสาหกรรม พร้อมเยี่ยมชมโรงเรือนปลูกคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศ จากนั้นได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่หนองชีร่วมกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      นอกจากนี้ แผนการดำเนินงานในอนาคตของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จะมีการวิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตหอมแดง เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจให้พึ่งตนเอง ตัดวงจรการระบาดของโรคและลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิชาการเกษตรจากผลงานวิจัยในการจัดการแปลงหอมแดงให้ได้คุณภาพสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต มีการจัดการผลิตหอมแดงที่เหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพสูง ปลอดภัย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้พึ่งพาตนเองและการแข่งขัน นำไปสู่การผลิตหอมแดงปลอดภัยและหอมแดงอินทรีย์ รวมทั้งการขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับผลผลิตสู่สากลอย่างแท้จริง
      ส่วนการวิจัยการผลิตกาแฟโรบัสตาคุณภาพแบบครบวงจร โดยจังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกกาแฟโรบัสตา ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟโรบัสตาในแหล่งปลูกต่างๆ ด้วยการปลูกทดสอบพันธุ์กาแฟโรบัสตาพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ (อำเภอเมือง) และแปลงเกษตรกรในอำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษณ์ พบว่า กาแฟมีการเจริญเติบโตดี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วภายในเวลาเพียง 2 ปี การตรวจสอบด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการทดสอบการชิม ด้านรสชาติและคุณภาพของเมล็ดกาแฟผ่านเกณฑ์ในขั้นที่ดี มีรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการปลูกกาแฟ และตลาดยังมีความต้องการในปริมาณที่มากขึ้นทุกปี
      ดังนั้นจึงได้นำร่องขยายผลการผลิตกาแฟคุณภาพ เป็นผลิตผลสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มจะสามารถพัฒนาเป็นสินค้าเฉพาะถิ่นได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ สามารถปลูกทดแทนข้าวในพื้นที่นาดอน ลดการชดเชยความเสียหายจากการทำนา สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
       ด้านนายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กล่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ มีผลงานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชที่ได้ผลงานพืชพันธุ์ใหม่แล้ว ทั้งสิ้น 14 พันธุ์ เป็นพันธุ์รับรอง จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ 3 พันธุ์ (พันธุ์ศรีสะเกษ 60-1, พันธุ์ศรีสะเกษ 60-2, และพันธุ์ศรีสะเกษ 3) และมะขามเปรี้ยว 1 พันธุ์ (พันธุ์ศรีสะเกษ 1) เป็นพันธุ์แนะนำ จำนวน 10 พันธุ์ ได้แก่ มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 019 มะขามแก้วพันธุ์ศรีสะเกษ 007 มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ มะเขือเทศพันธุ์ศรีสะเกษ 1 พริกขี้หนูห้วยสีทนพันธุ์ศรีสะเกษ พริกขี้หนูห้วยผลใหญ่พันธุ์ศรีสะเกษ 1 (จินดา)
      พริกขี้หนูเลยพันธุ์ศรีสะเกษ 4 มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 มะละกอฮออลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ และมะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ซึ่งได้รับความนิยมจากเกษตรกรมาอย่างยาวนาน และศูนย์ฯ ยังรับผิดชอบในการผลิตพันธุ์พืชสวนพันธุ์ดี ทั้งในรูปกิ่งพันธุ์ดี/ต้นพันธุ์ดี ได้แก่ มะขามเปรี้ยว มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ กาแฟโรบัสตา และเบญจมาศ เมล็ดพันธุ์ ได้แก่ มะละกอแขกดำศรีสะเกษ พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักบุ้งจีน กะเพรา แมงลัก และโหระพา เพื่อจำหน่ายแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร รวมกิ่งพันธุ์/ต้นพันธุ์ดี 5 ชนิด 32,000 ต้น เมล็ดพันธุ์ 10 ชนิด 600 กิโลกรัม